คอนราด อาเดนาวร์ “ไส้กรอกสันติภาพ” สิ่งประดิษฐ์ของนายกเยอรมัน
ผู้นำทางการเมืองอาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มวิธีการบริหารเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ หรือไม่ก็เป็นผู้ส่งเสริมการนำนวัตกรรมของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็มีผู้นำระดับโลกบางคนที่เป็นผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ทางอุตสาหกรรมเองได้ด้วย ผู้นำจากการเลือกตั้งที่เป็นนักประดิษฐ์โดดเด่นที่สุด คงจะไม่มีใครเกิน คอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐบุรุษผู้ฟื้นฟูเยอรมนีตะวันตกขึ้นมาจากซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาเดนาวร์ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 20 รายการ ที่ได้รับสิทธิบัตรทั้งในเยอรมัน อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป ทั้งที่มิได้เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
ประติมากรรมรำลึกอาเดนาวร์ ในโคโลญ |
คอนราด อาเดนาวร์ (1876-1967) เกิดที่โคโลญ ในวัยเด็กก็มีแววนักประดิษฐ์อยู่บ้าง คือชอบทดลองผสมเกสรดอกไม้ต่างชนิดเข้าด้วยกัน ผลการเรียนระดับกลาง ต่อมาเขาสอบได้ทุนไปเรียนวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ถึงสามมหาวิทยาลัยคือ ไฟรบวร์ก บอนน์ และมิวนิค จบมาแล้วก็ประกอบอาชีพทนายความ และเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่อายุ 30 ปี จนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการเมืองโคโลญ บ้านเกิด เมื่ออายุ 41 นับเป็นผู้ว่าอายุน้อยที่สุดในปรัสเซีย
อาเดนาวร์เป็นผู้ว่าเมืองโคโลญ ตั้งแต่อายุ 41 ถึง 57 ปี จนถูกนาซีสั่งปลด |
นวัตกรรมแรกของอาเดนาวร์ เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้ว่าโคโลญ ในปี 1915 เกิดปัญหาแป้งข้าวสาลีขาดแคลน ต้องปันส่วนขนมปัง อาศัยพื้นฐานจากร้านเบเกอรีของคุณปู่ เขาจึงทดลองทำขนมปังจากแป้งข้าวโพด ซึ่งนำเข้าจากโรมาเนีย ขณะนั้นยังเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด อาเดนาวร์ได้จดสิทธิบัตรสูตรขนมปังของเขาไว้ด้วย “ขนมปังสงคราม” แห่งโคโลญนี้ ขึ้นชื่อว่ารสชาดเหมือนอาหารสัตว์ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้กิน
เมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางของเยอรมนีเริ่มตกเป็นรอง โรมาเนียได้หันมาประกาศสงครามกับเยอรมันด้วย จึงต้องเลิกผลิตเพราะไม่มีข้าวโพด
หน้าตาขนมปังตามสูตรของคอนราด อาเดนาวร์ |
ก่อนสงครามโลกจะยุติ อาเดนาวร์ได้ขึ้นเป็นผู้ว่าเมืองโคโลญ ซึ่งอยู่ห่างจากแนวรบด้านตะวันตกเพียง 200 กิโลเมตร ประชากรของเมืองเริ่มอดอยาก เขาได้สร้างประดิษฐกรรมทางอาหารอีกอย่างหนึ่ง เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ ที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน โดยนำถั่วเหลือง มาเป็นสารเติมแต่งแทนเนื้อสัตว์ เพื่อทําไส้กรอก โดยยังมีรสและกลิ่นของเนื้อสัตว์อยู่ แต่ส่วนใหญ่ทำจากถั่วเหลือง
"ไส้กรอกสันติภาพ" ตามสูตรของอาเดนาวร์ |
อาเดนาวร์ได้ยื่นจดสิทธิบัตรสูตร “ไส้กรอกถั่วเหลือง” นี้ในเยอรมันไว้ด้วย แต่เนื่องจากความเคร่งครัดของระบบราชการเยอรมัน ที่เกรงว่าไส้กรอก (wurst) อันเป็นอาหารหลัก ที่มีอยู่เป็นพันชนิดในเยอรมัน จะถูกปลอมปน ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิบัตรเยอรมัน จนกระทั่งสงครามเลิกไปนานแล้ว ระหว่างนั้น เขาได้ให้เพื่อนฝูงไปยื่นจดสิทธิบัตรไส้กรอกนี้ในอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่สงครามกับเยอรมันด้วย ปรากฏว่าได้รับสิทธิบัตรอังกฤษ (ซึ่งไม่มีข้อห้ามออกสิทธิบัตรให้ชนชาติศัตรู) ในปี 1918 ก่อนสงครามจะเลิกเสียอีก
ไส้กรอกถั่วเหลืองของอาเดนาวร์ จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ไส้กรอกสันติภาพ " (Friedenswurst)
สิทธิบัตรสหราชอาณาจักร ออกให้อาเดนาวร์ ในปี 1918 |
ถึงแม้ไส้กรอกถั่วเหลืองจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์ในยามจำเป็นไปได้ แต่ก็มิใช่ไส้กรอกวีแกน หรือแพลนท์เบส ครั้งแรกของโลกแต่อย่างใด เพราะสูตรของอาเดนาวร์ยังมีเนื้อสัตว์ปนด้วย ไส้กรอกเจก็มีมานานแล้วในจีน แม้แต่ในเยอรมันเองก็มีผู้ทำไส้กรอกแป้งถั่วเขียวออกขายตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ได้รับความนิยม
นอกจากสูตรอาหารแล้ว อาเดนาวร์ยังมีผลงานการประดิษฐ์อุปกรณ์ทำสวน ซึ่งเป็นงานอดิเรกของเขาด้วย ในปี 1917 เขาได้คิดเอาค้อนทุบเนื้อไปติดไว้ที่คราด เพื่อใช้ทุบก้อนดิน
คราดหัวค้อน ผลงานของผู้ว่านักประดิษฐ์ |
เมื่อสงครามยุติ อาเดนาวร์ กลับไปทำหน้าที่ผู้ว่าโคโลญ ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งตลอดมาทุกครั้ง มีผลงานสร้างสิ่งใหม่ๆในการพัฒนาเมืองมากมาย ตั้งแต่การริเริ่มแนวคิดพื้นที่สีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จัดงานแสดงสินค้าครั้งใหญ่ สถาปนามหาวิทยาลัยโคโลญ ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่พื้นที่ รวมทั้งโรงงานรถยนต์ฟอร์ดจากสหรัฐ ทำให้โคโลญได้ชื่อว่าเป็น “มหานครแห่งภาคตะวันตก”
แม้แต่ทางด่วนออโตบาห์น อาเดนาวร์ก็ได้เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี 1932 เป็นโครงการถนนเชื่อมระหว่างโคโลญกับบอนน์ ต่อมาถูกฮิตเลอร์ขโมยไอเดียไปอ้างว่าเป็นผลงานของตน
ฮิตเลอร์ เคลมผลงานสร้างทางด่วนออโตบาห์นของอาเดนาวร์ |
คอนราด อาเดนาวร์ กลายเป็นนักการเมืองดาวเด่นแห่งยุคสาธารณรัฐไวมาร์ ตัวเต็งที่จะเป็นผู้นำระดับชาติ คนต่อไป แต่แล้วกระแสชาตินิยมและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจกลับนำพรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจ อาเดนาวร์ถูกฮิตเลอร์ (ซึ่งอายุน้อยกว่าตน 13 ปี) ปลดออกจากตำแหน่งในปี 1933 เพื่อไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ผู้นำ เพราะเขาไม่เห็นด้วยและไม่ให้ความร่วมมือกับพรรคนาซี และถูกยึดทรัพย์ด้วย
ในยุคนาซีเรืองอำนาจ อาเดนาวร์ไม่ได้ลี้ภัยออกนอกเยอรมัน แต่ต้องย้ายไปอยู่ในชนบทที่โรนดอร์ฟทางใต้ของบอนน์ แม้กระทั่งเงินบำนาญหลังเกษียณก็ถูกอายัดไว้ จนเขาต้องร้องเรียนไปถึงแฮร์มัน เกอริงจึงได้รับเงินมา อาเดนาวร์ใช้เวลาว่างช่วงนี้ในการทำสวน และกลับไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพิ่มอีกหลายอย่าง
https://www.nrw-tourismus.de/a-bundeskanzler-adenauer-haus👈
ในปี 1937 เขาได้ยึ่นจดสิทธิบัตร “แปรงไฟฟ้าสำหรับกำจัดแมลง” แต่ถูกปฏิเสธจากสำนักสิทธิบัตรแห่งอาณาจักรไรช์ ด้วยเหตุผลที่ว่าอันตรายเกินไปต่อผู้ใช้งาน
แปรงไฟฟ้าทดลองของอาเดนาวร์ที่เกือบทำไฟไหม้บ้าน |
อาเดนาวร์ยังมีผลงานอื่น เช่น ไข่เย็บผ้า (Darning Egg) แบบที่มีไฟส่องสว่างในตัว สำหรับใช้ปะชุนถุงเท้า เพื่อให้ภรรยาคนที่สองของเขาใช้ และได้ให้บริษัท AEG ที่เขารู้จักผลิตออกขายด้วย
“ไข่เย็บผ้า” แบบมีแสงข้างใน |
นอกจากนี้ อาเดนาวร์ยังมีผลงานคิดเครื่องปิ้งขนมปังแบบโปร่งใส มองเห็นขนมปังในเครื่องได้, แว่นตาและกระจกรถยนต์กันแสงสะท้อน, อุปกรณ์เตือนรถราง, หัวฉีดน้ำ, กาน้ำชาไฟฟ้า, โคมไฟแบบตั้งเวลา, อุปกรณ์ลดไอเสียรถยนต์ และ ถังรถน้ำต้นไม้แบบฝาฝักบัวเปิดได้ แบบในรูป ส่วนใหญ่อาเดนาวร์จะยื่นขอสิทธิบัตรด้วยแต่มักจะถูกปฏิเสธ
ผลงานการประดิษฐ์ของอาเดนาวร์ ช่วงอยู่ที่บ้านสวนโรนดอร์ฟ |
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันอยู่ในสภาพย่อยยับ อาเดนาวร์ในวัย 70 กว่าปี ซึ่งรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ คืนสู่วงการเมืองเพื่อกอบกู้ประเทศจากหายนะ เขาได้เคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองคริสเตียนเดโมแครท (ซีดียู) ขึ้น ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1949 พรรคซีดียูชนะเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียด คอนราด อาเดนาวร์ วัย 73 ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (Kanzler) คนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และเป็นต่อมาอีก 14 ปี ช่วงนี้เขามีภารกิจทางการเมืองมากมาย ไม่มีเวลาสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์อะไรอีก
นายกฯ อาเดนาวร์ วัย 85 ที่บัมแบร์ก ในปี 1961 |
อาเดนาวร์เป็นนายกเยอรมันตะวันตก จนอายุ 87 ปี ครองตำแหน่งผู้นำประเทศจากการเลือกตั้งอายุมากที่สุดของโลก อยู่หลายปี จนสถิติถูกทำลายโดยนายกมหาเธร์ของมาเลเซีย (95) และประธานาธิบดีของตูนีเซีย (93) เมื่อไม่นานมานี้เอง
เขาได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษ ผู้นำชาติเยอรมันจากสภาพผู้แพ้สงครามอย่างยับเยิน กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้อย่างปาฏิหาริย์ในเวลาไม่กี่ปี แม้จะถูกวิจารณ์ว่าอ่อนข้อให้กับอดีตสมาชิกพรรคนาซีมากเกินไป
อาเดนาวร์ (87) ต้อนรับประธานาธิบดีเคนเนดีในปี 1963 |
ผลงานสิ่งประดิษฐ์ (แปลกๆ) ของอดีตนายกอาเดนาวร์ ไม่ค่อยมีชิ้นไหนที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ยกเว้นขนมปังแป้งข้าวโพดสมัยสงครามโลกครั้งแรกของเขา ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ในชื่อ “Adenauer-Brot” ซึ่งร้านเบเกอรีในโรนดอร์ฟ ได้รื้อฟื้นมาทำขาย เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไป ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ส่วนผสมได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว มีเพียงแต่ชื่อที่ยังขายได้ “ขนมปังอาเดนาวร์” นี้ เป็นสินค้าดังในเขตโรนดอร์ฟ และโคโลญ ใครมาถึงแล้วต้องลอง อร่อยกว่าสูตรเดิมสมัยสงครามโลกเมื่อร้อยปีก่อนแน่นอน
"ขนมปังอาเดนาวร์" ที่มีขายในปัจจุบัน |
ผู้นำประเทศอื่นๆ ที่สร้างผลงานการประดิษฐ์ไว้ ยังมีอีกหลายคน เช่น ประธานาธิบดีลินคอล์น แห่งสหรัฐซึ่งเป็นทนายเหมือนกับอาเดนาวร์ (สิทธิบัตรทุ่นลอย), อิกนาชี มอสชิกกี อดีตประธานาธิบดีโปแลนด์ (เครื่องเชื่อมไฟฟ้า) และ นาโอโต คัง อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ตู้เกม) เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่สร้างไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
แหล่งอ้างอิง
https://www.dpma.de/english/our_office/publications/milestones/greatinventors/adenauer/index.html
https://www.konrad-adenauer.de/persoenliches/erfindungen/
https://www.theguardian.com/world/the-h-word/2014/jul/07/saving-the-bacon-during-the-first-world-war
https://www.spiegel.de/fotostrecke/erfindungen-des-konrad-adenauer-fotostrecke-126144.html
#คอนราด อาเดนาวร์
#สิ่งประดิษฐ์ของนักการเมือง
#ประวัติศาสตร์สิ่งประดิษฐ์
https://www.blockdit.com/posts/646cee458098591180a4c255🔍
https://www.facebook.com/profile.php?id=100089773247444
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น