24 มีนาคม 1891 ครบรอบสิทธิบัตรไม้จิ้มฟัน สิ่งประดิษฐ์สุดมินิมอล

 


24 มีนาคม ค.. 1891 (.. 2434) สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 448,647 ให้กับชาร์ล ซี ฟรีแมน แห่งรัฐเมน สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า “ไม้จิ้มฟัน” (TOOTH PICK) มีรายละเอียดการประดิษฐ์ 1 หน้ากระดาษ และรูปเขียนประกอบ 1 รูป แสดงภาพด้านข้างของวัตถุกลมทำด้วยไม้ที่ปลายทั้งสองข้างเรียวแหลม ไม่มีส่วนประกอบเคลื่อนที่ ไม่มีวงจรไฟฟ้า หรือแผนผังอื่นใดทั้งสิ้น

    "ความเรียบง่ายคือที่สุดแห่งความล้ำลึก" (simplicity is the ultimate sophistication) วลีโฆษณาของแมคอินทอชรุ่นแรกที่สตีฟ จอบส์ได้แรงบันดาลใจมาจากบันทึกของดาวินชี คู่ควรแก่การอธิบายสิทธิบัตรไม้จิ้มฟันนี้เช่นกัน บางคนถึงกับกล่าวว่าสิทธิบัตรฉบับนี้ไม่เพียงเป็นเอกสารทางกฎหมายแต่ยังอาจถือเป็นงานศิลปะสไตล์มินิมอลอีกด้วย สิ่งประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนกลไกอันซับซ้อน แต่แก้ปัญหาทางปฏิบัติได้อย่างเรียบง่าย สง่างาม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเกือบทั้งโลก อีกทั้งยังทำให้เจ้าของสิทธิบัตรมั่งคั่งขึ้นจากอุตสาหกรรมที่กำเนิดใหม่อยู่เกือบหนึ่งศตวรรษ

    ไม้จิ้มฟันกลมๆที่มีปลายแหลมสองข้าง จะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์อันลึกล้ำไปได้ยังไง ในความคิดของคนปัจจุบันที่พบเห็นสิ่งนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจจะคิดจากอคติมองย้อนหลัง (hindsight bias) ไปว่า “ไม้จิ้มฟันเนี่ยนะ ง่ายๆแบบนี้ใครๆก็ทำขึ้นมาได้ตั้งนานแล้วมิใช่หรือ” ก็มีส่วนจริงอยู่ แต่เรื่องราวมิได้ง่ายอย่างนั้นเสียทีเดียว ขอย้อนอดีตไปดูความเป็นมาว่าไม้จิ้มฟันเล็กๆอันดูด้อยค่า แบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่มีคนคิดมันขึ้นมาอย่างไร

ไม้จิ้มฟันสมัยโรมันทำด้วยเงิน อีกด้านหนึ่งใช้แคะหู ขุดพบในอังกฤษ แสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียม

ประวัติย่อของไม้จิ้มฟัน

    การแคะเศษอาหารออกจากซอกฟันเป็นกิจกรรมที่คู่กับการกินมาช้านานนับแต่กำเนิดมนุษย์ การสำรวจโครงกระดูกของมนุษย์โฮโมแฮบิลิสในแทนซาเนีย และมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในฝรั่งเศส อายุประมาณ2 ล้านปีที่แล้ว พบหลักฐานรูในฟัน เป็นผลจากการใช้กิ่งไม้หรือกระดูกสัตว์แคะเศษอาหารต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม้จิ้มฟันหรืออะไรก็ตามเพื่อการนี้นับว่าเป็นเครื่องมือชิ้นแรกๆที่มนุษย์โบราณสร้างขึ้น

    วัฒนธรรมอียิปต์ เมโสโปเตเมีย อินเดีย อะบอริจิน ชาวพื้นเมืองในอเมริกา ล้วนปรากฎร่องรอยของการแคะฟันแบบเดียวกัน ในเอกสารกรีก โรมัน จีน ก็กล่าวถึงการใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเศษอาหาร พุทธประวัติก็มีกล่าวถึงการเคี้ยวไม้สะเดาซึ่งยังใช้อยู่ในอินเดียจนทุกวันนี้ คัมภีร์ฮีบรูโบราณสอนว่า อย่าพกพาของใช้ที่หนักกว่าไม้จิ้มฟันในวันสะบาโต คัมภีร์อัลกุรอ่านก็แนะนำการใช้ไม้สิว๊าก (miswak) ทำความสะอาดฟันก่อนการละหมาดเช่นกัน คนไทยแต่โบราณก็ใช้ไม้ข่อย หรือโกทามาสีฟัน สีไปด้วยแคะฟันไปด้วยแบบออลอินวัน

    ต่อมาในยุคกลางจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรป ไม้จิ้มฟันเริ่มกลายเป็นของใช้ส่วนตัวแสดงฐานะของชนชั้นสูงเอาไว้งัดมาโชว์กันในงานเลี้ยงอาหาร เช่นเดียวกับเครื่องประดับ ราชินีอลิซาเบทที่หนึ่งพกพาไม้จิ้มฟันทองคำ มีช่างฝีมือสำหรับทำไม้จิ้มฟันโดยเฉพาะ ด้ามและกล่องเก็บทำด้วยลวดลายที่วิจิตรบรรจง


ไม้จิ้มฟันทองคำสมัยศตวรรษที่ 18



    ดีไซน์หนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น คือ “ไม้นกกระสา” ทำจากโลหะมีค่า ด้านปากนกเป็นไม้จิ้มฟัน ส่วนอีกด้านเอาไว้แคะขี้หู ส่วนคนทั่วไปที่งบไม่พอก็หาวัสดุตามมีตามเกิดมาแคะฟัน ตั้งแต่กระดูกสัตว์ กิ่งไม้พิสตาชิโอป่า หนวดวอลรัส ขนห่าน ไม้ไผ่ ไปจนถึงกิ่งสะเดาหรือข่อยในแถบเอเชีย ซึ่งเหลากันเองในครัวเรือน


ภาพวาดของนิโคโล เนลลี (1565) แสดงคนพายเรือกอนโดลาในเวนิส
แคะฟันด้วยไม้จิ้มฟันยักษ์ระหว่างรอลูกค้า

    การผลิตไม้จิ้มฟันออกขายมีเพียงชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 นำขนห่าน (ซึ่งล้นตลาดเนื่องจากปากกาขนห่านถูกแทนที่ด้วยปากกาเหล็ก) มาตัดปลายสองข้างและบรรจุซองขาย แต่มีความนิยมไม่มาก เพราะขาดสุขอนามัย และเก็บได้ไม่นาน ไม้จิ้มฟันที่ขายได้ดียุคนั้นมาจากสำนักชีแคทอลิกผลิตด้วยมือจากต้นส้มในแถบลุ่มน้ำมองเดโกในโปรตุเกส ซึ่งมีคุณสมบัติขัดฟันให้สะอาดไปด้วย


แม่พิมพ์กดสำหรับตัดขนห่านทั้งสองด้าน เพื่อทำไม้จิ้มฟันผลิตในฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19

ภาพพิมพ์แกะไม้โดยสึกิโอกะ โยชิโตชิ แสดงหญิงสมัยเมจิแคะฟันด้วยไม้ฟุซาโยจิ
อีกด้านหนึ่งเป็นแปรงสีฟัน


    ในเมื่อไม้จิ้มฟันเป็นอุปกรณ์ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และใช้กันอยู่ในแทบทุกชนชาติมายาวนาน ไม้จิ้มฟันตามสิทธิบัตรปี 1891 นั้นจะถือเป็น “สิ่งประดิษฐ์ใหม่” ได้อย่างไร คำถามนี้ไม่แปลกที่เราจะสงสัย ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรในขณะนั้นก็มีคำถามเดียวกัน และได้ปฏิเสธคำขอจดทะเบียนในครั้งแรก จนในที่สุดก็ได้ยอมรับในคุณสมบัติพิเศษของการประดิษฐ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยในอารยธรรมมนุษย์ ของสิ่งเล็กๆที่ดูไม่มีราคาชิ้นนี้

ชาร์ลส์ ฟอร์สเตอร์ ไม้จิ้มฟันเพื่อมวลชน

    สภาพเศรษฐกิจการแคะขี้ฟันในต้นศตวรรษที่ 19 นั้น เป็นดัชนีบ่งบอกความเหลื่อมล้ำได้ดี คนฐานะดีจะพกไม้จิ้มฟันพรีเมียมติดตัว ส่วนประชาชนเดินดินก็เหลาไม้จิ้มฟัน D.I.Y. กันไป ช่องว่างตรงกลางคือ ไม้จิ้มฟันตลาดมหาชนที่หาซื้อได้ทั่วไป ในราคาไม่แพง และคุณภาพเชื่อถือได้ ซึ่งย่อมต้องมาจากการผลิตปริมาณมากด้วยเครื่องจักร มิใช่ด้วยงานฝีมือมนุษย์อย่างที่เป็นมา จังหวะเวลานั้นก็มาถึงเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้แผ่ขยายไปถึงโลกใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ไม่ยึดติดกับประเพณีดั้งเดิมในยุโรป และเพรียบพร้อมด้วยผู้ประกอบการที่พร้อมเสี่ยงกับธุรกิจใหม่

    ผู้ที่จะกลายมาเป็นเสี่ยไม้จิ้มฟันคนแรกของโลกนั้นคือ ชาลส์ ฟอร์สเตอร์ (1826-1901) ชาวบอสตัน จากครอบครัวทำเฟอร์นิเจอร์ไม้มีฐานะค่อนข้างดี ในวัยหนุ่มเขาได้เดินทางไปติดต่อการค้าที่บราซิล และได้พบว่าทั้งชาวโปรตุเกสและคนพื้นเมืองมีฟันที่สะอาดสวยงาม ผู้คนที่นั่นล้วนแต่ใช้ไม้จิ้มฟันทำจากไม้ส้มสไตล์โปรตุเกส เขาจึงเกิดไอเดียว่าธุรกิจไม้จิ้มฟันที่ไม่มีมาก่อนในอเมริกาน่าจะทำเงินได้ ฟอร์สเตอร์เริ่มนำเข้าไม้จิ้มฟันต้นส้มทำมือจากบราซิลมาขายให้โรงแรมในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี แต่การจัดส่งเริ่มจะไม่แน่นอนและถูกโก่งราคาจนเกินเหตุ

รองเท้าสไตล์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งใช้หมุดไม้และทองเหลืองยึดพื้นรองเท้า
และ Benjamin Franklin Sturtevant (1833-1890) ผู้ประดิษฐ์เครื่องทำหมุดไม้ที่นำมาผลิตไม้จิ้มฟัน

    ฟอร์สเตอร์จึงเริ่มแผนการผลิตไม้จิ้มฟันขึ้นเองในโรงงาน แต่ด้วยที่เขาไม่ชำนาญด้านเครื่องจักรกล จึงได้ติดต่อกับเบนจามิน สเตอร์เทแวนท์ (Benjamin Sturtevant) นักประดิษฐ์จากครอบครัวยากจน แต่เดิมเป็นช่างรองเท้าในบอสตัน ต่อมาได้คิดค้นเครื่องทำรองเท้าด้วยการตอกตะปูหรือหมุดไม้ยึดพื้นเข้ากับรองเท้าจนมีชื่อเสียง ในสมัยนั้นพื้นถนนไม่ค่อยดีหากเย็บรองเท้าเข้าด้วยกัน ตะเข็บต้านนอกจะฉีกขาดได้ง่าย จึงต้องตอกหมุดไม้เข้ากับพื้นให้แน่นเพื่อยึดรองเท้าแทน ปัญหาของรองเท้าติดหมุดคือคุณภาพหมุดไม้ทำมือไม่แน่นอน เขาจึงได้ประดิษฐ์เครื่องจักรผลิตหมุดไม้ขึ้นมาด้วย 


การปอกท่อนซุงออกเป็นแผ่นชั้นบาง ตามสิทธิบัตร US26627 ของสเตอร์เตแวนท์

    วิธีการของสเตอร์เทแวนท์ ตามที่เขาได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 26627 ในปี 1859 คือนำท่อนซุงที่ตัดสั้นมาปอกเป็นชั้นบาง (veneer) บนแท่นหมุนเหมือนกับการกลึง ให้หนาเท่ากับขนาดของหมุดก่อน ชิ้นส่วนE (สีเขียว) ตามรูปคือแท่งดันเพื่อให้มีความหนาสม่ำเสมอ ชิ้นส่วนสีแดงคือใบมีดสำหรับปอก จากนั้นนำชั้นบางจากการปอกไปตัดสลับฟันปลาโดยวางใบมีดขนานกับแนวเส้นใยก็จะได้หมุดไม้ปลายแหลม ที่มีเส้นใยตามแนวยาวเหมือนกันหมด ทำให้มีความแข็งแรงกว่าเดิม เนื่องจากเส้นใยหรือเกรนของเนื้อไม้เรียงตัวในแนวแกนหมุนของท่อนซุงที่นำมาปอกอยู่แล้ว


การตัดแผ่นชั้นบางสลับฟันปลาออกเป็นไม้จิ้มฟัน ตามสิทธิบัตร US38768 ของสเตอร์เตแวนท์

    ความเฉียบแหลมของชาลส์ ฟอร์สเตอร์ เมื่อทราบถึงสิ่งประดิษฐ์ของสเตอร์เตแวนท์ คือการมองขาดในทันทีว่าเครื่องจักรทำหมุดไม้ของสเตอร์เทแวนท์ นำมา repurposeใช้ผลิตไม้จิ้มฟันได้เลย โดยการปรับเปลี่ยนขนาดความกว้างและความหนาของแผ่นไม้เท่านั้น ฟอร์สเตอร์ได้ตกลงจ่ายเงิน 200 ดอลลาร์ซื้อสิทธิบัตรของสเตอร์เทแวนท์ผู้กำลังขัดสนและไม่สนใจในธุรกิจไม้จิ้มฟันอยู่แล้ว (ต่อมาสเตอร์เทแวนท์ร่ำรวยขึ้นจากการคิดค้นพัดลมระบายอากาศ) และสนับสนุนให้สเตอร์เทแวนท์จดสิทธิบัตรเลขที่ 38768 สำหรับการผลิตไม้จิ้มฟันโดยเฉพาะในปี 1863 ไม้จิ้มฟันรุ่นแรกจะเป็นแบบแบน มีปลายแหลมด้านเดียว อีกด้านเป็นขอบคม ที่มีการตัดมุม (bevel) ทั้งสองด้าน

    โรงงานผลิตไม้จิ้มฟันแบบแบนของฟอร์สเตอร์ เปิดขึ้นที่บอสตันราวปี 1867 เมื่อฟอร์สเตอร์อายุ 40 เศษแล้ว เป็นอุตสาหกรรมผลิตไม้จิ้มฟันด้วยเครื่องจักรในปริมาณมากเป็นครั้งแรกในโลก ไม้จิ้มฟันรุ่นแบนยุคนั้นหาได้ยากแล้วแต่ยังมีผลิตอยู่ในยุโรปและอเมริกา ปีแรกที่เปิดกิจการ ขายได้ 16 ล้านก้าน ไม่นานเขาได้ย้ายฐานการผลิตไปยังรัฐเมน ที่มีแหล่งไม้ไวท์เบิร์ชอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไม้คุณภาพดีมีสีขาวสะอาด เก็บได้นาน และยังมีแหล่งพลังงานน้ำเหลือเฟือสำหรับโรงงาน ในปี 1874 โรงงานใหม่ของฟอร์สเตอร์ผลิตไม้จิ้มฟันได้ 500 ล้านก้านและขายได้หมด

    นอกจากการผลิตแล้ว ฟอร์สเตอร์ยังเป็นอัจฉริยะทางการตลาดอีกด้วย ไม้จิ้มฟันคุณภาพแน่นอนในราคาถูกเป็นธุรกิจใหม่ในอเมริกาจึงแทบไม่มีคู่แข่ง แต่ก็ไม่มีตลาดด้วย พฤติกรรมของตลาดสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลายวิธี กลยุทธ์หนึ่งของเขาอาจเรียกแบบปัจจุบันว่า seeding marketing หรือการหว่านเมล็ดพันธ์เพื่อกระตุ้นความต้องการ พูดง่ายๆคือการตลาดแบบหน้าม้านั่นเอง 

    ขณะนั้นไหมขัดฟันก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแล้ว ข้อแตกต่างคือไหมขัดฟันซึ่งมีราคาแพงกว่านั้น ผู้ใช้งานจะเป็นผู้ซื้อแล้วนำติดตัวไป ส่วนไม้จิ้มฟันจะขายให้ร้านอาหารเพื่อนำมาบริการให้ลูกค้า ตลาดเป้าหมายจึงเป็นกลุ่มร้านอาหาร ในระยะแรกฟอร์สเตอร์ลงทุนจ้างนักศึกษาฮาวาร์ดไปกินร้านอาหารหรูๆในบอสตัน เมื่อเสร็จกิจแล้วจะขอไม้จิ้มฟัน ซึ่งแน่นอนว่าร้านไม่มีให้ (ลูกค้าส่วนใหญ่จะพกมาเองครับคุณลูกค้า) นักศึกษาแต่งตัวดีเหล่านั้นก็จะโวยวายให้ทุกคนได้ยินและให้เจ้าของร้านอับอาย วันต่อมาฟอร์สเตอร์ก็จะปรากฎตัวที่ร้านพร้อมกับสาธิตการใช้งานไม้จิ้มฟันและเสนอสินค้า ซึ่งจะปิดการขายได้ในทันที 


ร้านอาหาร union oyster house ในบอสตัน จุดทดลองตลาดของฟอร์สเตอร์
และเป็นร้านแรกในอเมริกาที่มีไม้จิ้มฟันให้ลูกค้า
https://cdn.savingplaces.org/

    ฟอร์สเตอร์ยังจ้างหน้าม้าไปตามร้านขายของชำต่างๆถามหาไม้จิ้มฟัน หลังจากส่งแผนกขายไปยังร้านในวันต่อมาแล้วหน้าม้าก็กลับไปซื้อไม้จิ้มฟันอีกครั้งเพื่อคอนเฟิร์มดีแมนด์ ส่วนสินค้าที่แสร้งซื้อมานั้นก็เอากลับมาขายอีกวนไป เมื่อสร้างความรับรู้แก่ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกแล้ว คำสั่งซื้อก็หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย การสร้างตลาดไม้จิ้มฟันของชาลส์ ฟอร์สเตอร์ยังเป็นเรื่องเล่าขานต่อมาถึงทุกวันนี้

    แม้จะลงทุนการตลาดอย่างหนัก ตลอดชีวิตของเขาฟอร์สเตอร์ใช้วิธีขายให้สายส่งนำไปติดตราสินค้าเองโดยไม่เคยมีแบรนด์ในชื่อของตัวเอง ไม่เคยใช้ชื่อตัวเองในสิทธิบัตรต่างๆที่เขาเป็นเจ้าของ ด้วยมีอุปนิสัยไม่ต้องการเป็นจุดสนใจ จึงไม่มีภาพถ่ายของเขาปรากฎให้เห็นเลย 

    เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต คู่แข่งธุรกิจก็มากขึ้นตาม ฟอร์สเตอร์เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเครื่องจักรที่เขาไม่ต้องการให้ส่วนแบ่งกับผู้ใด ผู้ผลิตรายใหม่จึงต้องสร้างเครื่องจักรที่ออกแบบใหม่ขึ้นเอง แต่การลอกเลียนแบบก็ย่อมเกิดขึ้น ฟอร์สเตอร์ใช้เงินไปกว่า 50,000 ดอลลาร์ในการต่อสู้คดีกับคู่แข่งที่ต้องการเลียนแบบเครื่องจักรของเขา 

    มีเรื่องเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์ว่า ผู้คิดค้นเครื่องจักรผลิตไม้จิ้มฟันในปริมาณมากเป็นครั้งแรกคือเจ้าของสิทธิบัตรเลขที่ 123790 ออกให้แก่ สิลาส โนเบิล และเจมส์ คูลีย์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1872 บางแห่งถึงกับยกให้วันดังกล่าวเป็น “วันไม้จิ้มฟันโลก” ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้อง 


สิทธิบัตร US123790 ของสิลาส โนเบิล และเจมส์ คูลีย์ เรื่อง “Improvement in Tooth-Pick Machines”
ไม่ใช่ เครื่องจักรผลิตไม้จิ่มฟันเครื่องแรกของโลก

    เฮนรี เพทรอสกี เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The toothpick : technology and culture (2007) ว่า สิทธิบัตรดังกล่าวอธิบายเครื่องจักรที่ตัดชั้นไม้บนลูกกลิ้งออกเป็นไม้จิ้มฟันแบบแบนที่มีปลายเรียวสองข้าง ซึ่งในปี 1872นั้นฟอร์สเตอร์ก็ได้ผลิตไม้จิ้มฟันทรงสี่เหลี่ยม (มีปลายแหลมข้างเดียว) ด้วยเครื่องจักรตามสิทธิบัตรของสเตอร์เตแวนท์มาแล้วหลายปี อีกทั้งชื่อสิทธิบัตรฉบับใหม่นี้ก็ยังเขียนไว้ว่า “การปรับปรุงในเครื่องจักรไม้จิ้มฟัน” จึงมิใช่การประดิษฐ์ใหม่ครั้งแรก เป็นการคัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้อ่าน

    ส่วนโนเบิลและคูเลย์ นักประดิษฐ์นั้นเป็นเจ้าของโรงงานทำกลองในแมสซาชูเซตต์ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยนำเครื่องจักรตามแบบของตนมาผลิตไม้จิ้มฟันขายจริงๆแต่อย่างใด สิ่งประดิษฐ์ที่ดูมีรูปร่างเป็นเครื่องยนต์กลไกที่สลับซับซ้อนจึงไม่จำเป็นว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าสิ่งที่ดูธรรมดาง่ายๆเสมอไป

การบรรยายของเฮนรี เพทรอสกี ผู้เขียน The Toothpick: Technology and Culture.

    เข้าสู่ปี 1880 แม้ธุรกิจของฟอร์สเตอร์กำลังรุ่งเรืองครองส่วนแบ่งตลาดไม้จิ้มฟันกว่า 60% ยอดขายราวปีละหนึ่งแสนดอลลาร์ แต่การแข่งขันที่มากขึ้นและวัตถุดิบไม้เริ่มจะขาดแคลน สิทธิบัตรการผลิตไม้จิ้มฟันแบบแบนที่เขาซื้อมาจากสเตอร์เตแวนท์หมดอายุลง (สมัยนั้นสิทธิบัตรมีอายุ 17 ปี) 

    กิจการเข้าสู่ช่วงอิ่มตัว แต่มิใช่สำหรับชาลส์ ฟอร์สเตอร์ในวัย 60 เศษผู้ยังมีไฟการทำงาน เขาได้ไอเดียใหม่อันเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์อันเรียบง่ายแต่ล้ำลึก ที่จะขยายความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทให้ยืดยาวออกไป นั่นคือวิธีการผลิตไม้จิ้มฟันแบบกลม ชาลส์ ฟอร์สเตอร์ ได้มอบหน้าที่ให้ชาลส์ ฟรีแมน อดีตผู้ช่วยของสเตอร์เตแวนท์ที่ย้ายมาเป็นหัวหน้าช่างประจำโรงงานในรัฐเมนของเขาเอง คิดค้นเครื่องจักรผลิตไม้จิ้มฟันแบบกลมโดยการบีบอัด และได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 358029 ในปี 1887

เครื่องจักรผลิตไม้จิ้มฟันแบบกลมตามสิทธิบัตร US358029 ของ ชาลส์ ฟรีแมน

    การทำงานของเครื่องจักรดูได้จากภาพประกอบ ไม้จิ้มฟันแบบแบนที่มีหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมจากกระบวนการผลิตเดิมจะถูกป้อนเข้าทางซ้ายให้ไหลเข้าเครื่องโดยแกนของไม้จิ้มฟันเรียงขนานกันและตั้งฉากกับทิศทางการป้อน ไม้จิ้มฟันจะตกลงไปในช่องว่างรูปพระจันทร์เสี้ยว (สีเหลือง) ที่อยู่ระหว่างทรงกระบอกหมุนด้านใน (A) และกระบังวงแหวนด้านนอก (C) ซึ่งจะสามารถปรับตั้งระยะได้ 

    ช่องว่างนี้จะมีระยะห่างที่ค่อยๆลดลงตามทิศทางการหมุน และมีระยะห่างลดลงจากด้านในสู่ด้านนอกตามแนวแกน เมื่อทรงกระบอกซึ่งมีแกนหมุนขนานกับแกนของไม้จิ้มฟันหมุนไปจะลากไม้จิ้มฟันไปตามช่องว่างรูปพระจันทร์เสี้ยวที่ค่อยๆแคบลง ผิวด้านนอกของทรงกระบอกหมุนและผิวด้านในของกระบังวงแหวนจะถูกเคลือบไว้ด้วยสารขัดถูเช่นแก้วหรือควอร์ทซ์บดละเอียด ทำให้ไม้จิ้มฟันที่เคยอ่อนนุ่มจะถูกบีบอัดและถูกขัดถูจากการกลิ้งไปด้วยจนมีรูปร่างสมมาตรรอบแกนคือมีหน้าตัดแบบกลม 

    การบีบอัดจะทำให้ปลายทั้งสองข้างเรียวแหลม ถูกขัดจนเรียบและมีความแข็งมากกว่าเดิม จากนั้นจะนำไปอบไล่ความชื้นทำให้แข็งขึ้นอีก ผลที่ได้คือไม้จิ้มฟันกลมปลายแหลมสองข้างที่มีผิวเรียบต่อเนื่องกันตลอดความยาว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของไม้จิ้มฟันกลมแบบที่ใช้กันต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันนั่นเอง ฟอร์สเตอร์ถึงกับโฆษณาว่าไม้จิ้มฟันแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตด้วยเครื่องจักรนี้มีคุณภาพดีกว่าแบบหรูหราทำด้วยทองคำหรืองาช้างที่เคยใช้กันมาก่อนเสียอีก

ความเรียบง่ายที่ขายได้ดี

สิทธิบัตร “เครื่องจักรสำหรับการขัดและบีบอัดไม้จิ้มฟ้น” ดังกล่าวให้สิทธิผูกขาดแก่ฟอร์สเตอร์ในการผลิตไม้จิ้มฟันแบบกลมด้วยเครื่องจักรชนิดใหม่ได้ก็จริง แต่หากมีนักประดิษฐ์ผู้อื่นสามารถคิดค้นเครื่องจักรทางเลือกแบบอื่นในการผลิตไม้จิ้มฟันแบบเดียวกันก็จะเป็นคู่แข่งของฟอร์สเตอร์ได้โดยไม่ละเมิดสิทธิบัตร เขาจึงให้ชาลส์ ฟรีแมนยื่นขอสิทธิบัตรตัวไม้จิ้มฟันแบบกลมไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

ไม่เกินความคาดหมายที่สำนักงานสิทธิบัตรตอบปฏิเสธคำขอของเขาแทบจะทันที ด้วยไม่เห็นว่าตัว “ไม้จิ้มฟัน” นั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ตรงไหน ทนายความสิทธิบัตรของฟอร์สเตอร์ได้โต้แย้งว่า ไม้จิ้มฟันแบบกลม ในการประดิษฐ์นี้ไม่เหมือนไม้จิ้มฟันทั่วๆไปที่ทำขึ้นจากการเหลาหรือตัดไม้ให้แหลมซึ่งจะทำให้เส้นใยตรงปลายอ่อนนุ่มและแตกออกจากกัน 


จดหมายความเห็นแย้งจากทนายความของฟอร์สเตอร์ไปยังสำนักสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา

    แต่ไม้จิ้มฟันที่ผลิตจากเครื่องจักรบีบอัดและขัดผิวนั้น แก้ปัญหานี้โดยบีบอัดปลายให้เล็กลงทำให้เส้นใยไม้มารวมเข้าด้วยกันโดยไม่ขาดตอน ปลายแหลมทั้งสองกลายเป็นจุดที่แข็งที่สุดและไม่เข้าไปติดซอกฟัน 

    ในที่สุดผู้ตรวจสอบก็ยอมรับว่าตัวไม้จิ้มฟันตามวิธีการผลิตนี้ เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่อาจคาดคิดได้มาก่อน ใช้เวลาเถียงกันไป 5 ปีจึงได้รับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 1891 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ในชื่อของชาลส์ ซี ฟรีแมนสำหรับสิทธิผูกขาดในตัวผลิตภัณฑ์ (Article of Manufacture) :
    “ไม้จิ้มฟันทำด้วยไม้ที่ถูกบีบอัดให้เป็นรูปกลมและมีปลายเรียวแหลมทั้งสองข้าง” 
    ชาร์ลอต ฟอร์สเตอร์ ภรรยาของชาลส์เป็นผู้รับโอนสิทธิจากฟรีแมนอีกต่อหนึ่ง


กล่องไม้จิ้มฟันที่ผลิตจากโรงงานของชาลส์ ฟอร์สเตอร์ “IDEAL” คือแบบแบน “WORLDS FAIR” คือแบบกลม ในระยะแรกจะไม่มีตราในชื่อบริษัท เพิ่งจะมีเครื่องหมาย “Forster” ในรุ่นลูก

    ไม้จิ้มฟันกลมแบบใหม่ทำให้บริษัทของฟอร์สเตอร์ได้ครอบครองตลาดไม้จิ้มฟันในสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมด ส่วนไม้จิ้มฟันเหลี่ยมแบบเดิมก็ยังขายได้อยู่ ตลอดปี 1887 โรงงานฟอร์สเตอร์ผลิตไม้จิ้มฟันได้กว่า 5 พันล้านก้านต่อปี ขณะนั้นอเมริกามีประชากรเพียง 60 ล้านคน มีรายได้กว่าปีละแสนดอลลาร์ นับว่าพอใช้ได้สำหรับสินค้าที่ดูเหมือนจะธรรมดาชนิดนี้ และยังขยายตัวต่อมาอีกหลายสิบปี (เวลานั้นประธานาธิบดีสหรัฐได้ค่าตอบแทน25,000 ดอลลาร์ต่อปี) 

    แม้ว่าสิทธิบัตรได้หมดอายุลงแล้วในปี 1910 โรงงานของฟอร์สเตอร์ซึ่งเข้าสู่รุ่นลูกมารับช่วงต่อแล้วก็ยังขายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายไม้จิ้มฟันทั่วทั้งอเมริกาคือ 25,000 ล้านก้าน และขึ้นถึงจุดสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1950 คือ 75,000 ล้านก้าน ขณะนั้น สตรอง เมืองเล็กๆในรัฐเมน ที่ตั้งโรงงานของฟอร์สเตอร์ ได้ชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลางไม้จิ้มฟันของโลก” 

ป้ายเมือง สตรอง รัฐเมน “ศูนย์กลางไม้จิ้มฟันใหญ่ที่สุดในโลก” ในยุค 1950 ที่กลายเป็นอดีต

    อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะไม้จิ้มฟันไม้ไผ่ทำในจีนและเวียดนามเข้ามาแทนที่ ทำให้ปริมาณไม้จิ้มฟันผลิตในอเมริกาค่อยๆลดลง ในที่สุด โรงงานของฟอร์สเตอร์ ที่สตรอง ก็ได้ปิดตัวลงอย่างถาวรในปี 2003 คงเหลือแต่กระบวนการผลิตไม้จิ้มฟันที่แม้จะได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และย้ายฐานการผลิตไปที่ือี่น ก็ยังหลงเหลือร่องรอยของกรรมวิธีที่เบนจามิน สเตอร์เตแวนท์ และชาลส์ ฟรีแมนได้ประดิษฐ์คิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน รวมทั้งตัวไม้จิ้มฟันกลมๆเล็กๆ อันเป็นดังศิลปะชิ้นเอกแต่ครั้งนั้น

กรรมวิธีการผลิตไม้จิ้มฟัน

แหล่งอ้างอิง

https://www.aei.org/articles/the-glorious-toothpick/
https://www.atlasobscura.com/articles/strong-me-the-rise-and-fall-of-the-toothpick-capital-of-the-world
https://www.jstor.org/stable/27859052
https://www.pressherald.com/2022/12/08/a-window-on-the-past-charles-forster-and-the-forster-manufacturing-company/
https://slate.com/human-interest/2007/10/a-brief-history-of-the-toothpick.html
https://www.thoughtco.com/short-history-of-the-toothpick-4154079

Petroski, Henry (2007).The Toothpick: Technology and Culture. Knopf. ISBN 978-0-307-26636-1 










ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

80 ปี สิทธิบัตรเฮลิคอ.ปเตอร์ของ อิกอร์ ซิกอร์สกี

ทำอย่างไร รูบิค ตำนานลูกเต๋าปริศนา จึงครองตลาดอเมริกาโดยไม่พึ่งพาสิทธิบัตร

สมาร์ทกีตาร์ นวัตกรรมจากกว่างโจว