แม้จะกำเนิดขึ้นมาเกือบ
50 ปีแล้ว
ลูกบาศก์ของรูบิค (Rubik’s
Cube) ปริศนาสามมิติท้าทายสมอง
ที่เรียกกันส้้นๆว่า
“รูบิค”
ก็ยังดึงดูดคนทุกวัยทั่วโลกให้ลองแก้ปริศนาบิดลูกเต๋า
6 สี
เพื่อให้หน้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส
3 คูณ
3 ช่อง
แต่ละหน้ากลับคืนสู่สีเดียวครบทั้ง
6 หน้า
ปัจจุบันคาดว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า
1 พันล้านคนบนโลกใบนี้
ได้เคยลองเล่นแก้ปริศนานี้มาแล้ว
(แม้ว่าคนที่พิชิตมันได้น่าจะน้อยกว่านั้นมาก)
|
สแตมป์ฮังการี ที่ระลึกเจ้าภาพชิงแชมป์โลกรูบิคปี 1982 |
รูบิค
นับเป็นหนึ่งในของเล่นยอดนิยมที่สุดตลอดกาล
เช่นเดียวกับตำนานของเล่นอื่น เช่น
เลโก้
และชื่อของนักประดิษฐ์ก็ได้กลายมาเป็นคำสามัญเรียกของเล่นชนิดนี้
แม้ว่าจะเป็นของทำเลียนแบบก็ตาม
|
รูบิค(คน) กับรูบิค(ของเล่น) ที่ผลิตโดย Ideal Toy ในยุค 80
|
เมื่อ Ideal Toy Corporation นำรูบิคออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 1980 ได้รับความนิยมอย่างสูงในทันที และครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดอยู่หลายปี หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะ รูบิคมีสิทธิบัตรคุ้มครอง โดยเฉพาะอ้างถึงสิทธิบัตรสหรัฐเลขที่ 4,378,116 (
https://patents.google.com/patent/US4378116) ที่จะครบรอบ 40 ปีในปีนี้ ว่าเป็นจุดกำเนิดของรูบิค
|
สิทธิบัตรสหรัฐเลขที่ 4,378,116 ชื่อ “Spatial Logical Toy” ของเอร์โน รูบิค ออกให้เมื่อ 29 มีนาคม 1983 |
ใครที่อ่านสิทธิบัตรฉบับดังกล่าว จะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าเป็นสิทธิบัตรคุ้มครองลูกบาศก์ชนิด 3x3x2 ที่มี 18 ชิ้นย่อยเท่านั้น ซึ่งไม่ได้รับความนิยมและเลิกผลิตไป ไม่ครอบคลุมถึงลูกบาศก์รุ่นคลาสสิกยอดนิยมที่มีด้านละ 3 ชิ้นเท่ากัน
รูบิครุ่นยอดนิยม 3x3x3 นั้น ไม่เคยมีสิทธิบัตรในอเมริกาและในประเทศอื่นๆเกือบทุกแห่งในโลก แต่ผู้ผลิตรูบิคใช้ยุทธวิธีทางกฎหมายอื่นที่ทำให้ยังคงผูกขาดอยู่ได้นานกว่าการมีสิทธิบัตรเสียอีก
สิ่งประดิษฐ์จากโลกคอมมิวนิสต์
สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความบันเทิง (และความปวดหัว) ในกับคนทั่วโลกนี้ มีจุดเริ่มต้นที่ฮังการี ประเทศคอมมิวนิสต์แบบอ่อนๆ ในปี 1974 ผู้ประดิษฐ์คือเอร์โน รูบิค (
Ernő Rubik) อาจารย์สอนสถาปัตยกรรม ที่วิทยาลัยการออกแบบในบูดาเปสต์ (ปัจจุบันชื่อมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบโมโฮลีนาจ) วัย 30 ปี ไม่ได้ต้องการให้เป็นของเล่นขายแต่แรก
|
ต้นแบบรูบิคในมือของเอร์โน รูบิค ที่เขาทำขึ้นเองด้วยไม้ |
รูบิค นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผู้หลงใหลในรูปทรงเรขาคณิต ได้คิดค้นลูกบาศก์นี้ขึ้นเพื่อให้นักศึกษาในวิชาออกแบบได้เล่นสนุกและเกิดแรงบันดาลใจ เขาได้ทำต้นแบบขึ้นจากไม้ด้วยตัวเอง และพยายามแก้ปัญหาโครงสร้างภายในให้หมุนได้จนสำเร็จ รูบิคเองใช้เวลาอยู่เป็นเดือนในการหาวิธีหมุนลูกบาศก์ให้แต่ละหน้าคืนตำแหน่งเดิมครบทุกหน้า จนนับว่าเป็นคนแรกของโลกที่แก้ปริศนาได้สำเร็จ (สร้างเองแก้เองนักเลงพอ) นักศึกษาของเขาได้ลองเล่นแล้วชอบกันมาก
เมื่อออกแบบโครงสร้างภายในได้ลงตัวแล้ว เอร์โน รูบิค ยื่นขอสิทธิบัตรฮังการีเมื่อ 30 มกราคม ค.ศ. 1975 ประกาศโฆษณาเมื่อ 28 ตุลาคม 1976 และได้รับสิทธิบัตรเมื่อ 31 ธันวาคม1977 ในชื่อ “ของเล่นตรรกมิติ” (spatial logical toy)
|
สิทธิบัตรฮังการี 170062 ฉบับดั้งเดิมของเอร์โน รูบิค |
การออกแบบที่เรียบง่ายของรูบิคที่ยังใช้เป็นหลักกันมาจนทุกวันนี้คือ ชิ้นส่วนย่อย 20 ชิ้นตรงขอบและมุมจะมีส่วนยื่น ซึ่งใช้ผิวล็อคทรงกลมนูน (spherical confining face) ส่วนชิ้นกลางแต่ละหน้า 6 ชิ้นจะมีผิวเว้าที่รับกันพอดี เพื่อกันอีก 20 ชิ้นไม่ให้หลุด แต่ให้หมุนรอบได้
เอร์โน รูบิค (ซึ่งเป็นบุตรของวิศวกรออกแบบเครื่องบินผู้มีชื่อเสียงในฮังการี) ได้ติดต่อกับบริษัทของเล่นภายในประเทศเพื่อผลิตออกขาย ในที่สุดเมื่อปี 1977 บริษัท Politoys (Politechnika) ตกลงทำลูกบาศก์พลาสติกออกมาขายทดลองตลาด 5 พันชิ้นในชื่อ "Bűvös Kocka" ที่แปลว่า Magic Cube ปรากฏว่าขายเกลี้ยง ภายใน 3 ปีขายในฮังการีไปได้ 3 แสนชิ้น
ขณะนั้นฮังการียังเป็นรัฐสังคมนิยมขาดการติดต่อกับโลกตะวันตก นอกฮังการีแทบไม่มีใครรู้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์นี้อยู่
|
"Bűvös Kocka" ที่แปลว่า Magic Cube รุ่นแรกที่ขายในฮังการี ปัจจุบันเป็นของหายาก |
บริษัทได้นำ Magic Cube ไปร่วมงานแสดงของเล่นในเยอรมันตะวันตกในปี 1979 วางอยู่ในบูทเล็กๆเงียบๆเชยๆแบบคอมมิวนิสต์ที่ไม่ค่อยมีใครแวะชม ทอม เครเมอร์ (
Tom Kremer) เจ้าของ Seven Towns บริษัท ของเล่นเล็กๆ (ในขณะนั้น) อดีตผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันชาวยิวสมัยนาซี ได้ค้นพบเข้า เขารู้ว่าจะต้องดังแน่ถ้าไปถึงอเมริกาและเสนอเป็นตัวแทนให้
คงต้องบอกว่า หลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์
|
Zauber Würfel หรือ Magic Cube ฉลากภาษาเยอรมัน ที่ไม่ค่อยถูกไวยากรณ์สักเท่าใด จากงานทอยแฟร์ปี 1979 |
แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ราบรื่นนัก
ด้วยการติดต่อของทอม เครเมอร์ ในปี 1980 รูบิคบินออกนอกประเทศครั้งแรกไปอเมริกา เพื่อทำข้อตกลงกับบริษัทของเล่นรายใหญ่ Ideal Toy Corporation (ซึ่งต่อมาขายกิจการให้กับ CBS) ที่อยู่ในช่วงขาลง Ideal Toy ตกลงซื้อสิทธิ Magic Cube จากรูบิคและนำมาผลิตขายในอเมริกาโดยเปลี่ยนชื่อเป็น Rubik’s Cube ตามชื่อของนักประดิษฐ์ ที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่า
|
โลโกและเครื่องหมายการค้าของรูบิค ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1980 |
บริษัทพบว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของรูบิคในฮังการี ไม่สามารถนำมาจดทะเบียนในอเมริกาได้อีก ตาม อนุสัญญากรุงปารีส เรื่องการจดสิทธิบัตรข้ามชาติ สิ่งประดิษฐ์ที่เปิดเผยแล้วจะนำมาขอสิทธิบัตรในประเทศอื่นได้ต้องขอภายในเวลาประมาณ 1 ปี แต่สิทธิบัตรฮังการีออกมาเกือบ 3 ปีแล้วถือว่าขาดความใหม่ (lack of novelty) กลายเป็นสมบัติสาธารณะไป
แต่ Ideal Toy เชื่อมั่นในสินค้านี้อย่างยิ่ง เดินหน้าต่อโดยไม่ลังเล ขณะเดียวกันยังได้ออกสินค้าอื่นๆที่ยังใหม่จดสิทธิบัตรได้พร้อมกันไปด้วย คือลูกบาศก์หมุนรุ่น 3x3x2 (สิทธิบัตร 4,378,116 ที่พูดถึงข้างต้น), รุ่น 2x2x2 (สิทธิบัตร US4378117) ในชื่อ Pocket Cube, รุ่น Rubik Snake (สิทธิบัตร US4392323A) และรุ่นทรงกระบอก (สิทธิบัตร US4410179)
|
สิทธิบัตรสหรัฐ 4,378,117 ของเอร์โน รูบิค สำหรับลูกบาศก์ 2x2x2 ที่ทำขายในชื่อ Pocket Cube |
ส่วนรุ่นคลาสสิค 3x3x3 นั้นไม่มีสิทธิบัตรดังที่อธิบายแล้ว ต้องอาศัยเครื่องหมายการค้าอย่างเดียว ส่วนรุ่น 3x3x2 ที่มี 2 ชั้น และมีสิทธิบัตรนั้น กลับขายไม่ดี ต่อมาจึงได้เลิกผลิตไป
รูบิค 3x3x3 ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่ปีแรก Ideal Toy ขายรูบิคได้ 5 ล้านชิ้นในราคาประมาณ 10 ดอลลาร์ คิดเป็นยอดขายประมาณครึ่งหนึ่งของแอปเปิลทูในปีเดียวกัน ส่งผลให้บริษัทพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรท่วมท้นภายในปีเดียว ส่วนแบ่งกำไรทำให้เอร์โน รูบิคกลายเป็นบุคคลแรกจากประเทศคอมมิวนิสต์ ที่สร้างตัวเป็นเศรษฐีได้ในชั่วคนเดียว (ในปีเดียวก็ว่าได้)
เมื่อความนิยมมากอย่างนี้ คู่แข่งอื่นก็รู้แกวว่าไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงนำลูกบาศก์รุ่นคลาสสิก ผลิตในจีนออกขายบ้าง ในราคาถูกกว่าเกินครึ่ง แต่ Ideal Toy ยังมีไม้เด็ด นอกจากเครื่องหมายการค้าคุ้มครองแบรนด์รูบิคแล้ว ตามกฎหมายสหรัฐที่ชื่อ Latham Act ออกมาตั้งแต่ปี 1946 ให้ความคุ้มครอง trade dress ภาษาไทยเรียกว่า “เครื่องหมายรูปลักษณ์” อีกด้วย (คดีร้านขายชานมที่ฟ้องกันในไทยไม่กี่ปีก่อนก็เข้าข่ายทำนองนี้)
|
โครงสร้างชิ้นส่วนของรูบิคที่ดัดแปลงส่วนยื่นด้านในเป็นสันแหลี่ยม แทนที่จะเป็นผิวโค้งตามแบบของเอร์โน รูบิค เพื่อให้ประกอบง่าย |
รูปโฉมต้องไม่เหมือนใคร
trade dress คือลักษณะโดดเด่นของสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำ ซึ่งไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์หรือโลโกแต่รวมทั้งรูปร่าง สีสันภายนอกทั้งหมด แต่จะต้องไม่ใช่หน้าที่การทำงาน (functional) ซึ่งอยู่ภายใต้สิทธิบัตร
เครื่องหมายรูปลักษณ์ของรูบิครุ่นคลาสสิก ก็ได้แก่ รูปร่างลูกเต๋า 6 หน้าด้านละ 3 คูณ 3 ช่องที่มีสติกเกอร์ 6 สี เขียว, ขาว, น้ำเงินเข้ม, ส้ม, เหลือง, แดง ติดบนพลาสติกพื้นหลังสีดำ ผู้ผลิตอื่นๆส่วนใหญ่ก็ทำสินค้าทั้งรูปร่างและสีสันตามรูปแบบนี้เลย แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อรูบิคก็ตาม Ideal Toy อ้างว่าทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าเป็นของแท้
Ideal Toy จึงทำการฟ้องร้องผู้ผลิตอื่นว่าละเมิด trade dress ในเครื่องหมายการค้าของตน ชนะคดีไปหลายราย ผู้ผลิตของก๊อปหลายรายก็ช่างกระไร คือนอกจากทำสินค้าเหมือนแล้ว ยังทำบรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันอีก มาวางขายใกล้ๆ แบบ OEM คือไม่ติดตราสินค้าของตน ลูกค้าบางรายที่ซื้อไปแล้วมีปัญหาก็ส่งสินค้านั้นมาเคลมที่ Ideal Toy ซะอีก ถูกฟ้องก็สมควรอยู่
|
รูบิค รุ่นคลาสสิก 3 x 3 x 3 |
การใช้กติกา trade dress จะมีอายุความคุ้มครองไปเรื่อยๆ เทียบเท่าเครื่องหมายการค้า ตราบเท่าที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ซึ่งเกินกว่าอายุ 20 ปีของสิทธิบัตรด้วยซ้ำ แม้กระทั่งเมื่อปี 2018 นี้เอง Rubik's Brand Limited ผู้รับช่วงเครื่องหมายการค้ารูบิคต่อมาก็ยังมีคดีฟ้องผู้ผลิตรายอื่นในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ การใช้วิธีกดดันผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และควบคุมกติกาการแข่งขันรูบิคที่ตนเองเป็นสปอนเซอร์ ทำให้บริษัทผูกขาดตลาดอเมริกาอยู่หลายปีจนความนิยมเริ่มลดลงไปเอง ชุมชนนักบิดลูกเต๋า เริ่มวิจารณ์ว่าเจ้าของแบรนด์รูบิคทำเกินเลย ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่ทำสินค้าคุณภาพดีกว่าเข้าสู่ตลาดไม่ได้ไปด้วย
คู่แข่งที่ถูกลืม
อุปสรรคของรูบิคไม่จบเพียงเท่านั้น นอกจากรูบิค 3 ช่องอันเป็นตำนานแล้ว Ideal Toy (CBS) ยังได้ทำตลาด Pocket Cube ขนาด 2x2x2 หรือแบบ 2 ช่องตามสิทธิบัตรสหรัฐ 4,378,117 ของเอร์โน รูบิค ซึ่งขายได้ดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามสิบปีก่อนหน้านั้น แลรี นิโคลส์ (Larry D. Nichols) ดร.ทางเคมีจบฮาวาร์ดได้จดสิทธิบัตรปริศนาลูกเต๋า 2 ช่องไว้ก่อนแล้ว (
https://patents.google.com/patent/US3655201A) โดยใช้กลไกแม่เหล็กยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ก่อนที่เอร์โน รูบิค จะทำลูกเต๋าไม้ของเขาขึ้นมาเสียอีก
|
ปริศนาลูกเต๋า
2 ช่อง
กับผู้ประดิษฐ์ ดร.
แลรี
นิโคลส์ ผู้มาก่อนกาล |
ลูกเต๋าแม่เหล็ก 2 ช่องของนิโคลส์ไม่ได้รับความนิยม (น่าจะโกงกันง่าย) เมื่อ Pocket Cube ของรูบิคขายได้ดี ในปี 1982 Moleculon Research Corp นายจ้างของแลรี นิโคลส์ ได้ฟ้อง CBS เจ้าของแบรนด์รูบิคขณะนั้นว่าทั้งรูบิคแบบ 2 ช่องและ 3 ช่องละเมิดสิทธิบัตรของตน
ถึงแม้ว่าโครงสร้างของ Pocket Cube จะไม่ได้ใช้แม่เหล็กตามสิทธิบัตรของนิโคลส์ แต่เนื่องจากสิทธิบัตรของนิโคลส์ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแม่เหล็กเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงลูกบาศก์ 2 ช่องทุกชนิดที่เล่นแบบเดียวกัน ทำให้ศาลตัดสินว่า Pocket Cube แบบ 2 ช่องละเมิดสิทธิบัตรปี 1970 จริง ให้ CBS ชดใช้ค่าสินไหมย้อนหลังให้กับนิโคลส์ ส่วนรูบิค 3 ช่องไม่ละเมิด อย่างไรก็ตาม รูบิคเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และยังผลิต Pocket Cube 2 ช่องขายอยู่ต่อมาจนปัจจุบัน ส่วนสิทธิบัตรของนิโคลส์หมดอายุไปนานแล้ว
|
สิทธิบัตรชื่อยาวของแลรี นิโคลส์ “PATTERN FORMING PUZZLE AND METHOD WITH PIECES ROTATABLE IN GROUPS” เมื่อปี 1970
|
สถานการณ์ทางยุโรป
เดิมที เอร์โน รูบิคได้มอบสิทธิสิ่งประดิษฐ์ของตนในยุโรป ซึ่งมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ต่างออกไป ให้กับบริษัท Seven Towns ซึ่งก่อตั้งโดยทอม เครเมอร์ มีสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน นอกจากฮังการีบ้านเกิดแล้ว รูบิคสามารถจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของเขาได้ที่เบลเยียมในปี 1981
เมื่อสิทธิบัตรใกล้หมดอายุ บริษัท Seven Towns ตัวแทนขายรูบิคในยุโรปได้ยื่นขอ “
เครื่องหมายการค้าสามมิติ” ด้วยในปี 1999 เนื่องจากไม่มี trade dress คุ้มครองแบบครอบจักรวาลเหมือนอเมริกา ตัวอย่างของเครื่องหมายการค้าสามมิติ เช่น ขวดน้ำอัดลม กล่องไฟแช็ค หรือรูปทรงช็อคโกแลทยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผู้บริโภคเห็นจะจดจำได้ทันที
|
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสามมิติในสหภาพยุโรปของ Seven Towns |
หากรูบิคกลายสภาพเป็นเครื่องหมายการค้าสามมิติจะได้รับสิทธิผูกขาดตัวสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อ ไปตลอดกาลตราบที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ผู้ผลิตรายอื่นเช่น Simba Toys ต่างคัดค้าน
จนเมื่อปี 2016 ศาลแห่งสหภาพยุโรป (ECJ) ได้ตัดสิน ปฏิเสธมิให้ตัวรูบิคได้รับเครื่องหมายการค้าสามมิติ เนื่องจากลักษณะเด่นของสินค้าไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงคุณสมบัติการใช้งานได้แก่ความสามารถในการหมุนอีกด้วย ที่จะต้องไปคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์แทน (ซึ่งเกินกำหนดมานานแล้ว)
ขณะเดียวกัน Seven Towns ได้โอนสิทธิรูบิคในยุโรปทั้งหมดให้กับ Rubik’s Brand ดูแลแทน ในปี 2020 Spin Master บริษัทของเล่นในแคนาดาได้เข้าซื้อกิจการ Rubik’s Brand เจ้าของสิทธิทั้งหมดของรูบิคทั่วโลกไปในราคา 50 ล้านดอลลาร์ และยังออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่พิสดารมากขึ้น เช่น รูบิค “ปีศาจ” (
Rubik's Phantom) ที่ใช้สติกเกอร์สี thermochromic ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเมื่อได้รับความร้อนจากมือเท่านั้น
|
stickerless cube ผลิตในจีน |
ผู้ผลิตรายอื่นยังสามารถผลิตลูกบาศก์หมุนปริศนา
หรือ “ของเล่นตรรกมิติ” ขนาด
3x3x3 นี้ได้โดยเลี่ยงรูปแบบ
ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ไม่ให้เหมือนต้นฉบับทั้งหมด
เช่นใช้พื้นหลังสีขาวแทนสีดำ
ไม่ใช้แม่สี 6
สีแบบดั้งเดิม
บางรายใช้สีม่วง สีชมพู
ทำลวดลายอื่นๆ เช่นลายโดมิโน
หรือลายผลไม้ แทน
แม้แต่การผลิตลูกบาศก์แบบผสมสีพื้นมาในตัวโดยไม่ต้องติดสติกเกอร์
(stickerless cube) รวมทั้งการไม่ใช้ชื่อ
“รูบิค” โดยตรง
หลีกเลี่ยงไปใช้ชื่ออื่นแทนเช่น
Speed Cube
|
โครงสร้างภายในของ speedcube รุ่นใหม่ที่มีการปรับปรุงให้บิดง่ายขึ้น |
ผ่านมา 40 กว่าปี รูบิคติดสติกเกอร์แบบดั้งเดิมที่ขายไปแล้วมากกว่า 350 ล้านชิ้น ได้ถูกแซงหน้าโดยลูกบาศก์ทางเลือกราคาประหยัดจากจีนไปแล้ว ถึงแม้ว่าบางคนจะเรียกลูกบาศก์รุ่นใหม่เหล่านั้นด้วยคำสามัญว่ารูบิคก็ตาม คำว่า รูบิค ยังคงสถานะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผลบังคับใช้อยู่สำหรับสินค้าของแท้ ในประเทศที่มีการจดทะเบียนอยู่เช่นเดิม
|
"หากคุณสนใจสิ่งรอบตัว คุณจะพบปริศนาเต็มไปหมด และถ้าคุณตั้งใจจริง คุณจะหาคำตอบได้" เอร์โน รูบิค |
แหล่งอ้างอิง
https://businessviewmagazine.com/rubiks-brand-limited/
https://invention.si.edu/twist-fate-invention-rubik-s-cube
https://www.firstversions.com/2015/08/rubiks-cube.html
https://www.noerr.com/en/insights/zauberwuerfel
https://www.nytimes.com/1982/10/30/business/rubik-s-cube-a-craze-ends.html
http://www.trademarks-blog.eu/rubiks-cube/
วิวัฒนาการของรูบิค ระยะหลัง
https://www.youtube.com/watch?v=-lShDbbeUS4 👈
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น