ตำนานร่มชูชีพ สิ่งประดิษฐ์ที่ได้ความคิดจากชาวสยาม

 

บันทึกการเดินทางสู่แดนสยาม นำมาสู่การประดิษฐ์ร่มชูชีพ

ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ดินแดนสยาม จะไม่ค่อยมีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ฝากไว้ในโลกมากนัก แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งประดิษฐ์อย่างหนึ่งในปัจจุบัน ที่ถือว่ากำเนิดมาจากการใช้ชีวิตตามปกติของชาวสยามเองก็ว่าได้ สิ่งนั้นคือ “ร่มชูชีพ” สมัยใหม่นั่นเอง ที่ช่วยให้คนสามารถลดความเร็วการตกจากที่สูง และลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย ร่มชูชีพเกิดขึ้นพร้อมๆกับบอลลูนในช่วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยนักประดิษฐ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่องราวของสยามสมัยอยุธยา

ร่มชูชีพยุคโบราณ

    การใช้แรงต้านอากาศเพื่อลดความเร็วการตกจากที่สูง มีปรากฏครั้งแรกใน บันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน (司馬遷) สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตั้งแต่ 90 ปีก่อน คริสตกาล ซึ่งกล่าวถึงจักรพรรดิชุ่นผู้โดดจากหลังคาสูงที่กำลังไฟไหม้ โดยใช้หมวกและเสื้อผ้าต้านอากาศลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย ในยุคสามราชาห้าจักรพรรดิ เมื่อสองพันปีก่อนการบันทึก

ซือหม่าเชียน นักประวัติศาสตร์จีนโบราณเขียนถึงอุปกรณ์คล้ายร่มชูชีพเมื่อสี่พันปีก่อน

    หลังจากนั้น ก็มีหลักฐานหลายชิ้นในประวัติศาสตร์จีน ระบุถึงการแสดงที่ใช้ร่มโดดจากที่สูงเพื่อความบันเทิงของผู้ปกครอง ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น จนถึงราชวงศ์หยวน รวมถึงการใช้งานจริงที่คนโดดจากหอสูงด้วยร่มไม้ไผ่ เพื่อหลบหนีจากการถูกจับกุม

    ในโลกตะวันตกนั้น ลีโอนาร์โด ดาวินชี (1452-1519) มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นคนแรกที่บรรยายร่มชูชีพเอาไว้ ในสมุดบันทึก Codex Atlanticus ของเขา ประมาณปี 1483-1485

ภาพวาดร่มชูชีพในสมุดบันทึกของดาวินชี

    ดาวินชีวาดรูปและอธิบายส่วนประกอบ ร่มชูชีพ (ซึ่งยังไม่มีชื่อเรียก) ไว้ว่าเป็นผ้าทรงปิรามิดฐานสี่เหลี่ยมปิดมิดชิดทุกด้าน มีโครงทำด้วยไม้ และกำหนดขนาดไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า ดาวินชีเข้าใจเรื่องความเร็วปลาย (terminal velocity) ของการตกเป็นอย่างดี แต่ก็เหมือนกับสิ่งประดิษฐ์อื่นในบันทึก ที่ไม่ปรากฏว่าได้เคยนำมาสร้างขึ้นจริงในช่วงชีวิตของเขา

เอเดรียน นิโคลัส โดดร่มชูชีพดาวินชี

    ในปี 2000 เอเดรียน นิโคลัส นักบอลลูนชาวอังกฤษได้โดดจากบอลลูนที่ความสูง 3 กิโลเมตร ด้วยร่มชูชีพทรงปิรามิด ตามการออกแบบของดาวินชี เพื่อป้องกันมิให้ร่มน้ำหนักกว่า 80 กิโลกรัมล้มทับตัวเอง เขาจึงต้องตัดตัวเองออกเมื่อใกล้จะถึงพื้น และลงได้อย่างปลอดภัยด้วยร่มอีกตัวที่เป็นแบบสมัยใหม่ ต่อมาโอลิเวียร์ เวียตติ-เทปปา ชาวสวิส ก็ทดลองโดดจากเฮลิคอปเตอร์ในปี 2008  ด้วยร่มแบบดาวินชีเช่นกัน

    ไม่นานมานี้ นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่า ยังมีนักประดิษฐ์ผู้อื่นที่ได้บรรยายถึง “ร่มชูชีพ” แบบคล้ายกัน ในเวลาใกล้เคียงกับดาวินชี อีกด้วย ขอยกตัวอย่างสองราย

    คนแรกคือ ฟรานเชสโก ดิ จอร์โจ มาร์ตินี (1439–1501) ผู้เป็นทั้งวิศวกรทางทหาร, นักประดิษฐ์, สถาปนิก และจิตรกร ในยุคเรอเนสซองซ์ เหมือนดาวินชี แต่อายุมากกว่า 12 ปี ในราวปี 1470 มาร์ตินีได้เคยวาดภาพอุปกรณ์คล้ายกับคนกำลังโดดร่ม เพียงแต่เป็นร่มรูปทรงกรวยกลม ผูกสายโยงกับเอว แทนที่จะเป็นแบบปิรามิดฐานสี่เหลี่ยมเหมือนของดาวินชี โดยไม่มีคำอธิบายประกอบเอาไว้ 

ภาพจากสมุดบันทึกของฟรานเชสโก ดิ จอร์โจ มาร์ตินี (บริติชมิวเซียม)

    บันทึกของมาร์ตินียังมีภาพสิ่งประดิษฐ์อื่นหลายอย่าง รวมทั้ง “Vitruvian Man” ที่คล้ายกับในสมุดบันทึกของดาวินชี ที่เขียนขึ้นภายหลังอีกด้วย

สมุดบันทึกของ ดิ จอร์โจ มาร์ตินี “แรงบันดาลใจ” ของดา วินชี

https://www.youtube.com/watch?v=tbE48nkYsdo👈

    จึงมีข้อสงสัยว่า ดา วินชี อาจจะนำแบบอย่างร่มชูชีพ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ของมาร์ตินี มาวาดใหม่เป็นภาพสามมิติให้สวยงาม แม้แต่ภาพ “เฮลิคอปเตอร์” (aerial screw) อันโด่งดังของเขาก็อาจนำมาจากของเล่นเด็ก “แมลงปอไม้ไผ่” จากจีนซึ่งมาร์โคโปโลนำมาเผยแพร่ในอิตาลีขณะนั้นอยู่แล้วก็เป็นได้

    นักประดิษฐ์อีกรายคือ เฟาสโต เวรันซิโอ (1551 – 1617) ยุคหลังดาวินชีราวหนึ่งศตวรรษ ก็มีผลงานประดิษฐ์ร่มชูชีพเหมือนกัน เวรันซิโอมาจากครอบครัวคหบดีในโครเอเชีย แม้ว่าจะเป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงและศึกษาดาราศาสตร์ร่วมยุคกับกาลิเลโอ แต่นอกจากจะไม่ขัดแย้งกับวาติกันแล้วยังเป็นบาทหลวงเองด้วย คือเป็นบิชอปอยู่ในฮังการี ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของเวนิสในขณะนั้น 

ภาพ Homo Volans จาก Machinae Novae (1595) ของเฟาสโต เวรันซิโอ

    เวรันซิโอได้ศึกษาสมุดบันทึกของดาวินชี และนำมาออกแบบร่มชูชีพสี่เหลี่ยมโครงไม้ ให้ชื่อว่า “มนุษย์บิน” (Homo Volans) เขียนไว้ในหนังสือ “นวัตกรรมจักรกล” (Machinae Novae) ของเขาพิมพ์ขึ้นประมาณปี 1595 

    มีหลักฐานบันทึกว่า ร่มของเวรันซิโอได้ถูกสร้างขึ้นและมีผู้ทดลองใช้โดดจริง เมื่อปี 1617  จากหอระฆังของมหาวิหารซานมาร์โค ในเวนิส ความสูงประมาณ 50 เมตรในสมัยนั้น (หอปัจจุบันสูงราว 100 เมตร) ผลลัพธ์เป็นอย่างไรยังไม่เคยได้รับรายงาน

หอระฆังซานมาร์โค ภาพเขียนของคานาเลตโต ยุค 1720

    หลังจากนั้นแม้ว่าจะเข้าสู่ยุคแห่งแสงสว่าง (Age of Enlightenment) ยุโรปก็ยังไม่มีพัฒนาการทางการบินมากนัก ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์หนึ่งที่ชาวไทยรู้จักดี คือ การมาเยือนสยาม ในปี 1687-1688 ของซิมง เดอลา ลูแบร์ (1642 – 1729) ทูตของลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ฝรั่งเศส สมัยรัชกาลพระนารายณ์แห่งอยุธยา และได้ตีพิมพ์บันทึกการเดินทางเป็นภาษาฝรั่งเศสปี 1691 ซึ่งต่อมาจะมีส่วนอย่างคาดไม่ถึงต่อวิทยาการในโลกตะวันตก

จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ฉบับภาษาฝรั่งเศส

    ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรไอน้ำ และจักรกลต่างๆ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นทั่วยุโรป รวมทั้งในฝรั่งเศส เป็นที่ทราบทั่วไปว่า กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ชื่นชอบในสิ่งประดิษฐ์และกลไกต่างๆ 

    เจ้าของโรงงานกระดาษผู้ร่ำรวยเช่นพี่น้อง โจเซฟ-มิเชล มงต์โกลฟิเอ (1740-1810) และ ชาคส์-เอเตียน มงต์โกลฟิเอ (1745-1799) ก็มีงานอดิเรกในการสร้างสิ่งประดิษฐ์เช่นกัน

    การประดิษฐ์บอลลูนอากาศร้อนของพี่น้องมงต์โกลฟิเอ เกิดจากการสังเกตเห็นกระดาษที่ตากไว้ในโรงงานลอยตัวใกล้กับเตาเผา และสามารถสร้างบอลลูนขนาดใหญ่สูง 23 เมตร นำคนขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ความสูงเกือบ 1 กิโลเมตร ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในเดือนพฤศจิกายนปี 1783 โดยมีลุยส์ที่ 16 และเบนจามิน แฟรงคลิน ทูตอเมริกามาชมด้วย แม้ว่าชาวจีนจะใช้หลักการเดียวกันในการทำโคมลอยมาก่อนนับพันปีแล้ว แต่ไม่เคยสร้างบอลลูนขนาดใหญ่ที่คนขึ้นไปได้

ภาพเขียนบอลลูนอากาศร้อน ของมงต์โกลฟิเอโดย อันโตนิโอ คาร์นิเซโร ปี 1784

เพียงสิบวันหลังจากบอลลูนมงต์โกลฟิเอส่งคนขึ้นไปได้ ชาคส์ ชาลส์ ผู้ค้นพบ “กฎของชาลส์” ที่กล่าวว่าปริมาตรของแกสแปรผันตามอุณหภูมิ ได้ส่งบอลลูนอัดแกสไฮโดรเจนขนาด 5 เมตรที่เขาประดิษฐ์จากผ้าไหมเคลือบยางขึ้นสู่อากาศ โดยตัวเขาเองเป็นนักบิน ประชากรครึ่งหนึ่งของปารีสมาดูการปล่อยบอลลูนครั้งนี้ บอลลูนขึ้นไปได้ถึงเกือบ 3 กิโลเมตร จนทำให้ชาลส์บาดเจ็บจากการปวดหู 

    บอลลูนไฮโดรเจนมาทีหลัง แต่ลอยได้สูงกว่าและนานกว่าบอลลูนอากาศร้อนอย่างชัดเจน (ประมาณ 9-48 ชั่วโมง) ปัญหาคือไฮโดรเจนติดไฟง่าย ระเบิดได้และยังรั่วผ่านผ้าไหม โดยเฉพาะถ้าลอยขึ้นไปสูงมาก ความดันอากาศภายนอกลดต่ำลงจนเนื้อผ้าทนรับผลต่างความดันไม่ไหว จึงต้องมีอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ร่มชูชีพติดบอลลูนไว้ด้วย

การอัดแกสไฮโดรเจนเข้าบอลลูน

นักโดดร่มชาวสยาม

    ลุยส์-เซบาสเตียน เลอนอร์มองด์ (1757-1837) คือคนแรกที่ออกแบบร่มชูชีพและทดสอบการโดดร่มด้วยตัวเอง เลอนอร์มองด์มาจากมงต์เปอลิเอ ทางใต้ของฝรั่งเศส เป็นบุตรของช่างทำนาฬิกา เขาได้ศึกษาที่ปารีส กับปรมาจารย์ทางเคมีถึงสองคนคือ อังตวน-โลฮองต์ เดอ ลาวัวซิเอ และโคลด-ลุยส์ แบร์โทเลต์

    เมื่อเรียนจบได้ทำงานในโรงงานสารเคมีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาดูแลร้านทำนาฬิกาที่บ้านเกิด ระหว่างนี้เองเขาได้อ่านบันทึกการเดินทางไปสยามของลาลูแบร์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีก่อนหน้านั้น ตอนที่เลอนอร์มองด์ประทับใจเป็นพิเศษคือตอนที่ลาลูแบร์เล่าถึงการแสดงที่วังลพบุรีของนักกายกรรม “โจนร่ม”

อยุธยาในมุมมองของศิลปินตะวันตกยุคลาลูแบร์

    จากหนังสือของลาลูแบร์ ฉบับแปลภาษาอังกฤษ A new historical relation of the kingdom of Siam, Simon de La Loubère (1642-1729) พิมพ์ปี 1693 หน้า 47 เขียนว่า

ข้อความที่ลาลูแบร์เล่าถีงการโจนร่ม

    “A Tumbler exceedingly honoured by the King of Siam,

There dyed one, some Years since, who leap'd from the Hoop,supporting himself only by two Ʋmbrella's, the hands of which were firmly fix'd to his Girdle: the Wind carry'd him accidentally sometimes to the Ground, sometimes on Trees or Houses, and sometimes into the River.”

ในฉบับภาษาไทย สำนวนแปลของ สันต์ ท. โกมลบุตร (จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม)

    “นักแสดงไม้สูงคนโปรดของพระเจ้ากรุงสยาม,

เคยมีการถึงตายกันขึ้นมาคนหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยโจนจากบ่วงลงมาสู่เบื้องล่าง มีร่มสองคันเท่านั้นทานตัว ส่วนคันร่มนั้นผูกไว้แน่นกับบั้นเอว ลมก็พาคนโจนร่มล่องลอยไปตามบุญตามกรรม ลางทีก็ลงมายังพื้นดิน ลางทีก็ไปตกลงบนต้นไม้หรือหลังคาเรือน และลางทีก็ไปตกในแม่น้ำ” 

    “พระเจ้ากรุงสยามโปรดคนโจนร่มนั้นมาก ถึงขนาดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้อยู่ประจำในพระราชวัง และพระราชทานยศศักดิ์อย่างสูง”

จิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา

    ในปัจจุบันการแสดงโดดจากที่สูงโดยใช้ร่มชลอความเร็ว หรือ “โจนร่ม” สมัยอยุธยา หาดูไม่ได้แล้ว แม้แต่ตามจิตรกรรมฝาผนังก็ไม่มีเขียนไว้ มีแต่การไต่ลวดรำแพน และกายกรรมบนเสาสูงอื่นๆ แต่ก็มีหลักฐานของไทยบันทึกไว้หลายแห่งตรงกับบันทึกของลาลูแบร์ 

    เช่น พงศาวดารในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ปลายสมัยอยุธยา กล่าวถึงงานสมโภชวัดนางคำ ที่มีโจนร่ม สมัยธนบุรี เมื่อมีงานสมโภชพระแก้วมรกต ที่นำมาจากลาว ก็มีการแสดงแทบทุกชนิด รวมทั้งโจนร่ม

    หรือในวรรณคดีพระอภัยมณี ตอนอภิเษกสินสมุทร ราวสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ก็เขียนไว้ว่า

“บ้างขึ้นไต่ไม้สูงสามต่อตั้ง รำแพนทั้งโจนร่มตามลมเหลิง

บ้างสรวลเสเฮฮาเสียงร่าเริง ทำชั้นเชิงรำเต้นเล่นประชัน”

    พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน สมัยพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1998 (ค.ศ. 1455) ก่อนสมัยพระนารายณ์ถึงสองร้อยปี ก็มีตำแหน่งยศ ให้กับนักกายกรรมด้วยคือ “ไม้ต่ำสูง ขุนทหารวิเศศเหิน หมื่นเหินเวหาเหาะ นาดล ศักดินา 200” ดังที่ลาลูแบร์บรรยายไว้ เมื่อมาถึงยุคกรุงเทพราชธานี การโจนร่มก็หายไปจากความนิยม แต่ยังมีตำแหน่งนักกายกรรมอยู่ สมัยรัชกาลที่ 1 เรียกว่า กรมญวนหก เหลือเพียงการหกคะเมนบนเสาสูง

    การแสดงโจนร่ม ตามที่ลาลูแบร์ บันทึกไว้ จึงน่าจะมีจริง ในสมัยต้นอยุธยาจนถึงธนบุรี อาจจะนำมาจากจีนอีกต่อหนึ่ง สันนิษฐานจากชื่อว่าน่าจะเป็น “ขุนทหารวิเศศเหิน” หรือ “หมื่นเหินเวหาเหาะ” ผู้ใดผู้หนึ่งนั่นเอง สาเหตุที่โจนร่มสาบสูญไปนั้นไม่ทราบชัด จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ทำให้เห็นว่าการแสดงนี้น่าจะเสี่ยงอันตรายมากอยู่

จุลจิตรกรรม (portrait miniature) ที่ระลึกการประดิษฐ์ร่มชูชีพของเลอนอร์มองด์ 1783 

(https://www.meisterdrucke.uk)

    เซบาสเตียน เลอนอร์มองด์ นำแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของนักกายกรรม “โจนร่ม” อันแปลกประหลาดชาวสยามนี้เอง มาออกแบบร่มชูชีพ จุุดประสงค์แรก คือเพื่อใช้ในการโดดหนีจากตึกสูงที่เกิดอัคคีภัย

    จากบันทึกของเขาเอง เลอนอร์มองด์ได้ทดสอบโดดจากชั้นบนของบ้าน โดยมือแต่ละข้างจับร่มกันแดด (parasol) ข้างละคัน ขนาด 30 นิ้ว (77 ซม.) ที่ผูกปลายเข้ากับด้ามไว้กันลมตีกลับ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 1783 เพื่อจำลองการแสดงของชาวสยาม และลงสู่พื้นได้อย่างนิ่มนวล

    อีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาจึงได้ทำร่มขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 14 ฟุต (4.3 เมตร) ไปทดสอบบนหอสังเกตการณ์ Torre de la Babote สูง 26 เมตร ในมงต์เปอลิเอ แต่ใช้แมวโดดลงมาแทน ไม่ได้โดดเองเหมือนอย่างในรูป ซึ่งศิลปินวาดขึ้นจากคำบอกเล่า 

    หลังจากนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเข้าใจผิดจากตำนานร่ำลือ ยังเคยติดแผ่นป้ายไว้ที่หอสังเกตการณ์ในปี 1945 ว่า เป็นที่ซึ่งเลอนอร์มองด์ได้โดดร่มลงมาเป็นครั้งแรกของโลก ต่อมาได้นำป้ายออกไปแล้ว

การโดดร่มจากหอสูงของเลอนอร์มองด์ ซึ่งโอลิเวียร์ เดอแบร์นอง ระบุว่าไม่เคยเกิดขึ้น

(อ้างจาก บทความของ โอลิวิเอ เดอ แบร์นอง ระบุว่าภาพนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และขนาดร่มก็ไม่ตรงกับหลักฐานตามบันทึก)

    อย่างไรก็ตาม การทดสอบร่มของเลอนอร์มองด์ในปี 1783 ถือว่าเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศส และทำให้ผู้อื่น เช่นมงต์โกลฟิเอ นำร่มชูชีพไปปรับปรุง ปี 1783 นั้นยังนับว่าเป็นปีมหัศจรรย์ทางการบินของฝรั่งเศส ที่มีสิ่งประดิษฐ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่บอลลูนอากาศร้อน บอลลูนไฮโดรเจน และร่มชูชีพ

(อาจจะรวมถึงต้นแบบ เฮลิคอปเตอร์ ของชาวฝรั่งเศสในปีนั้นด้วย)

    อีกอย่างที่เป็นผลงานของเลอนอร์มองด์ คือเขาเป็นผู้ที่คิดคำว่าร่มชูชีพ หรือ parachute จากภาษาลาตินและฝรั่งเศส ที่แปลว่า “ต่อต้าน+การตก” จากข้อเขียนในปี 1785

ภาพร่มชูชีพของเลอนอร์มองด์ ที่ศิลปิน Moissy วาดขึ้นภายหลัง

    หลังการทดสอบโดดร่มในปี 1783 เลอนอร์มองด์ได้ไปเป็นบาทหลวงในคณะคาร์ทูเซียน แต่เหตุการณ์สำคัญกว่ามหัศจรรย์ทางการบินก็เกิดขึ้นในฝรั่งเศส นั่นคือการปฏิวัติปี 1789 บาทหลวงไม่ได้รับความปลอดภัยอีกต่อไป เขาจึงได้ไปเป็นครู ทำงานในรัฐบาล เป็นศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลจีแห่งสถาบันอาชีวะ “Conservatoire des arts et métiers”  และพิมพ์หนังสือคู่มือต่างๆขาย 


หอคอย la Babote ในมงต์เปอลิเอ สมัยปัจจุบัน

    แม้เขาจะไม่ปรากฏผลงานการประดิษฐ์ร่มอะไรอีก (หันไปสนใจการประดิษฐ์เรือแทน) เลอนอร์มองด์ก็ได้จุดประกายความสนใจในการสร้างร่มชูชีพให้ใช้งานได้จริงขึ้นแล้ว การประยุกต์ใช้งานหลักในเวลานั้น มิใช่เพื่อโดดหนีไฟจากที่สูงตามความมุ่งหมายเดิม แต่กลับเป็น “อุปกรณ์ลงจอดฉุกเฉิน” สำหรับนักบินบอลลูน

บอลลูน-ร่มไฮบริดของบลองชาร์ 

   งานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบยิ่งใหญ่มักไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ในตัวเอง แต่อาจอยู่ที่การมีผู้อื่นนำไปทำตามและพัฒนาต่อ โดยเฉพาะหากงานถูกนำไปพัฒนาต่อโดยไม่ได้รับการกล่าวถึงผู้ริเริ่มเป็นคนแรก ยิ่งแสดงว่ามีความสำคัญมาก ร่มชูชีพของเซบาสเตียน เลอนอร์มองด์ ก็เช่นกัน

บอลลูนไฮโดรเจนติดร่มชูชีพของบลองชาร์

    เนื่องจากร่มชูชีพกลายเป็นสิ่งสำคัญประจำบอลลูน นักประดิษฐ์บอลลูนจึงมักจะออกแบบร่มชูชีพไปด้วย ในยุคนั้นนอกจากมงต์โกลฟิเอและชาลส์แล้ว อีกผู้หนึ่งคือ ชองปิแอร์ ฟรองซัวส์ บลองชาร์ (1753–1809) ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงจากการข้ามช่องแคบอังกฤษด้วยบอลลูนไฮโดรเจน ได้เป็นคนแรกในปี 1785 

    เขาได้ประดิษฐ์บอลลูนที่มีร่มชูชีพแบบเปิดค้างไว้ในตัว โดยปรับปรุงมาจากร่มของเลอนอร์มองด์ สำหรับใช้เวลาแกสรั่วหรือระเบิดก็จะลงสู่พื้นได้ด้วยร่ม และได้ใช้งานจริงในปี 1793 เมื่อบอลลูนของเขาติดไฟขึ้นกลางอากาศ 

    บลองชาร์ได้ก่อตั้งสมาคม “เครื่องจักรอากาศสถิตย์” (aerostatic machine) เพื่อเผยแพร่การใช้บอลลูนและร่มชูชีพขึ้นในอังกฤษ และมักจะอ้างว่าเขาเองเป็นคนคิดร่มชูชีพเป็นคนแรก โดยไม่กล่าวถึงเลอนอร์มองด์

    ทั้งร่มชูชีพของเลอนอร์มองด์ หรือบลองชาร์ รวมทั้งของผู้อื่นก่อนหน้านั้น ล้วนเป็นร่มแบบมีโครงแข็ง เหมือนร่มกันแดดฝนทั่วไป ซึ่งไม่เหมาะสมกับการพกพาหรือใช้งาน และจะไปเพิ่มน้ำหนักบนอากาศยานด้วยเท่ากับเพิ่มคนอีกหนึ่งคน ต่างจากร่มชูชีพในปัจจุบันที่เป็นแบบไร้โครง (frameless parachute)

ร่มแบบไร้โครงแต่มีรู ของการ์เนอริน

อังเดร-ชาคส์ การ์เนอริน ผู้บุกเบิกร่มชูชีพ

    ผู้ที่คิดค้นร่มชูชีพแบบไร้โครง และทำการทดสอบด้วยตัวเองเป็นคนแรกของโลก คือ อังเดร-ชาคส์ การ์นูร์ฮัน หรือการ์เนอริน (André-Jacques Garnerin, 1769–1823) นักบินบอลลูนผู้อาจหาญแห่งสาธารณรัฐที่หนึ่ง นอกจากนี้เขายังได้ปรับปรุงคุณสมบัติอื่นๆของร่มชูชีพ ที่ยังใช้มาจนปัจจุบัน และเป็นผู้ที่จดสิทธิบัตรร่มชูชีพได้เป็นรายแรกอีกด้วย

    ก่อนการปฏิวัติใหญ่ การ์เนอริน เป็นนักศึกษาฟิสิกส์ ศิษย์ของชาคส์ ชาลส์ ไอคอนแห่งบอลลูนไฮโดรเจน ซึ่งชาวฝรั่งเศสเรียกบอลลูนชนิดนี้ว่าชาลิแอร์ (charlière) ตามชื่อของชาลส์ การ์เนอรินชำนาญการบินบอลลูนอยู่แล้วเช่นเดียวกับชาลส์ สมัยนั้นเรียกว่าอากาศนาวิก (aeronaut) หรือ balloonist สมัยนี้นั่นเอง

    เมื่อเกิดสงครามสหสัมพันธมิตรหลังจากการปฏิวัติ เขาได้เข้าร่วมการพัฒนาบอลลูนทางทหาร และต่อมาได้ร่วมการรบที่ชายแดนเบลเยียมซึ่งเป็นของออสเตรียในปี 1793 แต่พลาดท่า ถูกทหารฝ่ายพันธมิตรกษัตริย์นิยมจับได้ และส่งไปขังในปราสาทบูดาเปสต์ถึง 3 ปี เขาใช้เวลาในคุก ออกแบบร่มชูชีพเพื่อการหนี แต่ยังไม่ทันไรก็ถูกปล่อยตัวก่อน

บอลลูนไฮโดรเจนใช้ส่งสัญญาณศึกให้ฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศส

    ระหว่างที่การ์เนอรินถูกคุมขังอยู่นั้น บอลลูนสอดแนม อัดไฮโดรเจน ตามการออกแบบของชาคส์ ชาลส์ ได้กลายเป็นอาวุธใหม่ของฝ่ายสาธารณรัฐ ที่ช่วยให้ชนะศึกที่เฟลอรัส (Fleurus ปัจจุบันอยู่ในเบลเยียม) เมื่อปี 1794 (ซึ่งแซง จูสต์ผู้นำจาโกแบงมาบัญชาการเอง ก่อนที่เขาจะถูกจับและประหารในเดือนต่อมา)

    หน่วยบอลลูนตรวจการณ์นี้ ถูกตั้งชื่อว่า หน่วยอากาศสถิตย์ (Compagnie D'Aérostiers) ตามหลักการทำงานของบอลลูนที่ใช้แรงลอยตัวของแกสที่เบากว่าอากาศ บอลลูนจะถูกเชือกล่ามเอาไว้ให้ทหารบนพื้นชักลาก  ทหารบนบอลลูนคอยตรวจความเคลื่อนไหวข้าศึกและส่งสัญญาณธงหรือชักรอกข้อความลงมาข้างล่าง เพียงลอยตัวให้สูงกว่า 200 เมตรก็พ้นระยะยิงของปืนสมัยนั้นแล้ว จึงไม่ต้องลอยสูงมาก


ทหารฝรั่งเศสส่งสัญญาณจากบอลลูน ในศึกเฟลอรัส

    ปกติแล้วไฮโดรเจนจะได้มาจากปฏิกิริยาของกรดกำมะถันกับผงเหล็ก แต่เนื่องจากกรดกำมะถันต้องเก็บเอาไว้ทำดินปืน คณะกรรมการปฏิวัติ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์อยู่หลายคน จึงเลือกใช้การผลิตไฮโดรเจนด้วยการพ่นน้ำไปบนผงเหล็กร้อน ในน้ำมีธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน เมื่อออกซิเจนไปรวมตัวกับเหล็ก จะปลดปล่อยแกสไฮโดรเจนออกมา

    การผลิตไฮโดรเจนแบบนี้ซึ่งใช้เวลาเติมบอลลูนเป็นวัน เรียกว่า “กระบวนการลาวัวซิเอ-มูนิเอ” คิดขึ้นในปี 1783 โดยลาวัวซิเอ (อาจารย์ของเลอนอร์มองด์) ผู้ที่ถูกประหารไประหว่างยุคแห่งความสยดสยอง (Reign of Terror) ในปี 1794 ด้วยกิโยตินนั่นเอง (เนื่องจากเขารับผิดชอบการเก็บภาษีในสมัยลุยส์ที่ 16)  ที่เจ็บแสบกว่านั้นคือ ลาวัวซิเอ ผู้นี้เองที่ตั้งชื่อธาตุไฮโดรเจน (แปลว่า “กำเนิดน้ำ”) ที่เอามาอัดบอลลูน

    น่าเสียดายที่ หน่วยอากาศสถิตย์ของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับสาธารณรัฐที่หนึ่ง ตั้งอยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่อบอลลูนถูกฝ่ายออสเตรียยึดได้ในสมรภูมิเวิร์ซเบิร์ก (ปัจจุบันยังแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ในเวียนนา) และที่อียิปต์ เกิดเสียงคัดค้านในกองทัพว่าไม่คุ้มค่า 

    นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ยุบเลิกหน่วยนี้ซึ่งมีทหารเพียง 26 คน ไปในปี 1802 กล่าวกันว่า นโปเลียนอาจไม่ปราชัยในการรบที่วอเตอร์ลูเมื่อปี 1815 ก็ได้ หากยังใช้บอลลูนสอดแนม เพราะไม่เห็นกองทหารอังกฤษที่ซ่อนตัวอยู่หลังเนินดิน บอลลูนสอดแนมกลับถูกนำไปใช้ในที่อื่นๆ เช่นในสงครามกลางเมืองสหรัฐ และใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วย


กลับมาสู่เรื่องของร่มชูชีพ... 🪂


    เมื่อการ์เนอรินได้กลับฝรั่งเศสแล้ว เขาก็นำร่มชูชีพที่ออกแบบไว้ในคุก มาพัฒนาต่อทันที ร่มชูชีพของการ์เนอรินเป็นแบบไม่มีโครงไม้ เพื่อให้นำขึ้นไปได้ง่ายและไม่เพิ่มน้ำหนักบนบอลลูน

ร่มชูชีพในการทดสอบปี 1797

    ตามการออกแบบของการ์เนอริน ร่มชูชีพผ้าใบไร้โครง จะติดอยู่กับบอลลูนไฮโดรเจนด้วยเชือกที่ร้อยผ่านแกนตรงกลาง โดยมีนักบินอยู่ในกระเช้าใบเล็ก (gondola)  ช่วงขาขึ้นสายโยงระหว่างกระเช้ากับหลังคาร่มจะหุบเข้าหาแกน หากบอลลูนระเบิด หรือนักบินตัดสายบอลลูนออก หลังคาร่มจะกางออกได้เองจากอากาศที่ไหลเข้าไประหว่างการตก ทำให้เกิดแรงต้าน ลดความเร็วขาลงให้ช้าลงได้

    การ์เนอริน ทำการทดสอบร่มชูชีพของเขา จากบอลลูนที่เขาขึ้นบินด้วยตัวเอง เหนือสวนมงโซ (parc monceau) ใกล้กับประตูชัยกลางกรุงปารีส ครั้งแรกไม่สำเร็จ บอลลูนเกิดขัดข้องไม่สามารถลอยตัวได้ อีกห้าเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1797 เขาประกาศการทดสอบอีกครั้ง โดยใช้บอลลูนไฮโดรเจนที่ไม่มีเชือกผูก และร่มชูชีพที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อกางออก 23 ฟุต (7 เมตร) 

    ในการทดสอบนี้ การ์เนอรินได้เพิ่มกลไกที่สามารถเจาะบอลลูนให้แตกได้เมื่อถูกตัดออกจากร่มชูชีพ นอกจากเพื่อทำให้เก็บบอลลูนได้ง่ายแล้ว ยังสร้างความตื่นเต้นให้คนดูอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการเสี่ยงอันตรายมาก

การทดสอบร่มชูชีพของ ชาคส์ การ์เนอริน

    ในเย็นวันทดสอบ ผู้คนมารอดูอย่างเนืองแน่น บอลลูนสีทองผ่องอำไพ ตัดกับสีท้องฟ้ายามเย็นของปารีส ลอยขึ้นไปได้ราว 1 กิโลเมตร การ์เนอรินก็ตัดสายบอลลูนออก พร้อมกับเจาะบอลลูนให้แตกเสียงดังสนั่นไปด้วย กระเช้าน้อยๆที่บรรทุกการ์เนอรินร่วงหล่นจากท้องฟ้าอย่างน่าหวาดเสียว

    ขณะฝูงชนกำลังร้องด้วยความตกใจนั้น หลังคาร่มก็กางแผ่ออก การ์เนอรินค่อยๆร่อนตัวลงถึงพื้น แม้จะไม่ค่อยนิ่มนวล เนื่องจากร่มของเขาส่ายแกว่งไปมาอย่างรุนแรง แต่ก็ลงสู่พื้นโดยปลอดภัย ห่างจากสวนมงโซไปราว 1 กิโลเมตร ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของผู้ชมจำนวนมาก รวมทั้งจีน เจเนวีฟ ลาบรอส ภรรยาในอนาคตของการ์เนอริน ซึ่งต่อมากลายเป็นนักบอลลูนหญิงรุ่นแรกๆของโลกด้วย

ป้ายที่ระลึกการโดดร่มของการ์เนอริน ที่สวนมงโซ ปารีส (tripadvisor.com)

    ชาคส์ การ์เนอริน กลายเป็นวีรบุรุษของฝรั่งเศสในทันที ร่มชูชีพแบบไร้โครงของเขากลายเป็นสิ่งประดิษฐ์แรกๆอันเป็นผลผลิตของการปฏิวัติฝรั่งเศส (ไม่นับกิโยตินซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว) การ์เนอรินมีชื่อเสียงไปทั่วยุโรปแม้แต่ในชาติศัตรูของฝรั่งเศส ณ เวลานั้น ที่สวนมงโซในปัจจุบันยังมีป้ายรำลึกการโดดร่มครั้งนั้นเอาไว้ว่า

“ณ ที่นี้ วันที่  22 ตุลาคม 1797 อังเดร-ชาคส์ การ์เนอริน ชาวฝรั่งเศส กระโดดร่มชูชีพจากบอลลูนปล่อยอิสระ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

    การ์เนอรินยังได้ปรับปรุงร่มชูชีพ เพื่อลดการแกว่งไกว ดังที่เขาพบปัญหาด้วยตัวเองระหว่างการโดดร่มครั้งแรก โดยได้ทำตามคำแนะนำของเชโรม ลาลองด์ นักดาราศาสตร์ชื่อดัง และมันสมองฝ่ายการศึกษาของการปฏิวัติฝรั่งเศส คือการเพิ่มรูระบายเล็กๆบนหลังคาร่ม ช่วยลดการสั่นสะเทือนของมวลอากาศลง ทำให้ร่มชูชีพมีเสถียรภาพมากขึ้น

การวิเคราะห์ทางวิศวกรรมในปัจจุบัน จะพบว่า ร่มชูชีพมีความถี่ธรรมชาติจากการสั่นสะเทือนหลายรูปแบบ คือ

  1. การสั่นของมวลอากาศที่เข้าไปกักภายในหลังคาร่ม เหมือนกับที่เราได้ยินเสียงก้องจากการเป่าลมผ่านขวดเปล่า (Helmholtz resonator)
  2. การส่ายแกว่งของกระเช้าเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา (pendulum) โดยมีหลังคาร่มเป็นจุดหมุน
  3. การสั่นเข้าออกของมวลกระเช้าเนื่องจากความยืดหยุ่นของสายโยงเหมือนสปริง

    ถ้าหากความถี่การสั่นของข้อใดข้อหนึ่งตรงกันจะกระตุ้นให้เกิดการสั่นพ้องอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นการปล่อยอากาศออกจากหลังคาร่มบางส่วนจะช่วยลดการสั่นรูปแบบแรกลง และไม่ไปกระตุ้นการสั่นรูปแบบอื่นๆ รูระบายบนยอดหลังคาร่ม (air vent) ที่การ์เนอรินคิดขึ้นนี้  ยังมีใช้มาจนปัจจุบัน 

สิทธิบัตรร่มชูชีพ ปี 1802 ของ การ์เนอริน (https://www.inpi.fr)


    หลังจากที่รัฐบาลปฏิวัติของฝรั่งเศสได้เปิดให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์โดยไม่มีการตรวจสอบในปี 1791 การ์เนอรินได้ยื่นรับสิทธิบัตรร่มชูชีพไร้โครง แบบมีรูเปิดด้านบน เป็นสิทธิบัตรลำดับที่ 195 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1802 ในนามของภรรยา (ตรงกับ พ.ศ. 2345 สมัยรัชกาลที่ 1) 

    ตลอดหลายปีต่อมา การ์เนอรินได้รับเชิญไปแสดงบอลลูนและการโดดร่มในหลายประเทศ ราว 200 ครั้ง ซึ่งเขาผ่านมาได้หมดโดยสวัสดิภาพ จนกระทั่งถูกสังหารด้วยอุบัติเหตุท่อนไม้ล้มทับ ระหว่างการสร้างบอลลูน ในปี 1823 ขณะที่ร่มชูชีพของเขาได้ช่วยชีวิตคนไว้จำนวนมาก 

    กูเกิลได้ทำดูเดิลรำลึกการโดดร่มของการ์เนอรินในปี 2013

https://www.google.com/doodles/216th-anniversary-of-the-first-parachute-jump

    ในศตวรรษที่ 19 ร่มชูชีพกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีติดบอลลูนทุกลำ การพัฒนาเกิดขึ้นจริงจังก็ต่อเมื่อมีเครื่องบินใช้แล้วในต้นศตวรรษที่ 20 และกว่าจะได้เป็นร่มชูชีพแบบปัจจุบันที่พับเก็บได้ง่าย และมีสายควบคุมทิศทาง ก็ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1920 แล้ว

    ในปัจจุบัน นอกจากความก้าวหน้าทางเทคนิคของร่มชูชีพ ที่ต่างจากเดิมมากแล้ว จุดประสงค์การใช้งานก็เพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ยังนำไปใช้งานอื่นอีกมาก เช่น ถูกนำมาใช้ขนส่งทหารพลร่ม หรือสิ่งของทางอากาศ ใช้ลดความเร็วเครื่องบินเวลาลงจอด ใช้ในการสำรวจอวกาศ รวมทั้งการดิ่งพสุธาเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ เท่ากับย้อนกลับไปสู่การใช้งานเดิมของร่มชูชีพโดย “หมื่นเหินเวหาเหาะ” ชาวสยามนิรนาม เมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว นั่นเอง

การโดดร่มของการ์เนอริน ปี 1797

แหล่งอ้างอิง

Olivier de Bernon, “The Parachute, a French Invention of Distant Siamese Origin”, Journal of the Siam Society, Vol. 109, Pt. 2, 2021

Garrett Soden, “Defying gravity : land divers, roller coasters, gravity bums, and the human obsession with falling”, 2005


https://archive.org/details/bub_gb_RvpBAQAAMAAJ/mode/2up

https://www.davincilife.com/davincis-parachute.html

https://www.history.com/this-day-in-history/the-first-parachutist

https://www.historylines.net/history/15th_cent/parachutes.html

https://www.inpi.fr/

http://scihi.org/andre-jacques-garnerin-parachutes/


#ร่มชูชีพ #จดหมายเหตุลาลูแบร์ #ประวัติศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ #โจนร่ม #บอลลูน

https://www.blockdit.com/posts/644b6711b9854e216146524c 🔍

https://www.blockdit.com/posts/644dc98785160aa852d702f2

https://www.facebook.com/profile.php?id=100089773247444


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

80 ปี สิทธิบัตรเฮลิคอ.ปเตอร์ของ อิกอร์ ซิกอร์สกี

ทำอย่างไร รูบิค ตำนานลูกเต๋าปริศนา จึงครองตลาดอเมริกาโดยไม่พึ่งพาสิทธิบัตร

สมาร์ทกีตาร์ นวัตกรรมจากกว่างโจว